ไม่พบผลการค้นหา
รอนแรม หรือ The Journey หนังสือนิทานภาพ โดย ฟรานเซสกา ซานนา สะท้อนชีวิตการเดินทางค้นหาบ้านหลังใหม่ของผู้ลี้ภัยผ่านภาพประกอบสวยงาม ที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

เมื่อพูดถึงผู้ลี้ภัย อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่หนักและห่างไกลตัวเด็ก แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้ว เนื้อแท้ก็คือการเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ฟรานเซสกา ซานนา (Francesca Sanna) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอิตาลีจึงเลือกถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์การอพยพของเด็กสองคนที่เธอพบเจอ ณ ศูนย์ผู้ลี้ภัยในประเทศอิตาลี ออกมาในรูปของหนังสือนิทานภาพประกอบสีสดสวยในชื่อ The Journey หรือ ‘รอนแรม’ ในภาษาไทย เพื่อบอกเล่าเส้นทางชีวิตของผู้ลี้ภัยซึ่งในหลายสังคมยังขาดความเข้าใจ และบ่อยครั้งถูกตีตราเป็นภาระของประเทศ

journey01.jpg
  • ตัวอย่างภายในหนังสือ 'รอนแรม'


เรียนรู้ความเห็นใจผู้อื่น ผ่านเรื่องราวของผู้ลี้ภัย

หากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากกลายเป็นผู้ลี้ภัย แต่ชะตาชีวิตของเราล้วนต่างกันไป หัวใจของหนังสือนิทานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย จึงเป็นการที่เด็กจะได้เรียนรู้ความแตกต่างและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ครูก้า กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ เล่าว่า เรื่องราวในหนังสือนิทานภาพ รอนแรม มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากเด็กทุกคน ทำให้เด็กเชื่อมโยงกับตัวเองได้ ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครเด็กในเรื่อง

“เด็กผู้หญิงคนนี้ในภาพเขาก็ชอบเล่นทรายเหมือนกัน แต่เขาหมดโอกาสแล้วที่จะได้เล่นอีกต่อไป มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ สิ่งเหล่านี้จะจูงให้เด็กเกิดความสนใจ แล้วเริ่มที่จะอยากเข้าใจชีวิตของผู้อื่นมากขึ้น อยากจะเข้าใจเรื่องราวของผู้อื่นมากขึ้น” ครูก้า เล่าและเสริมว่า มุมมองที่ทำให้เห็นความแตกต่างจะทำให้เด็กเริ่มสนใจสิ่งที่ไม่เหมือนตัวเองมากขึ้น อยากก้าวสู่โลกภายนอก และอยากจะเข้าใจผู้อื่นแทนที่จะเข้าใจแต่ตัวเองเพียงคนเดียว

ครูก้า.jpg
  • ครูก้า กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์

ครูก้าหวังว่าเด็กที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และไม่กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องมีผู้อพยพเกิดขึ้น เพราะเขาได้เข้าอกเข้าใจแล้วว่าหากเป็นเรา ก็ย่อมไม่อยากจะอยู่ในเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวแบบนั้นเช่นกัน

แม้จะนำเสนอในรูปแบบของนิทานภาพ แต่การรอนแรมของผู้ลี้ภัยเด็กนั้นก็ไม่ได้ห่างจากความเป็นจริงนัก พอแสนโซ บรี (Pawsansoe Bree) หรือ พอ อดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา เล่าว่า ในวัย 6 ขวบ ได้อพยพข้ามชายแดนมายังฝั่งไทยพร้อมกับ พ่อ แม่ และพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอีก 8 คน ก่อนจะถูกส่งไปยังศูนย์อพยพบ้านนุโพ จ.ตาก ที่ซึ่งเธอเติบโตจนอายุ 13 ปี ก่อนจะย้ายไปยังประเทศอเมริกา และกลับมาทำงานที่ไทยเพื่อดูแลครอบครัวที่ยังคงอยู่ในค่ายอพยพ

“ชีวิตเหมือนกับในหนังสือรอนแรมหลายอย่าง ตอนนั้นอายุหกขวบ ตอนเด็กๆ อยู่ในประเทศพม่า ต้องหลบซ่อน ต้องหนีตลอด ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย ก็จะถามพ่อกับแม่ว่าทำไมเราต้องหลบซ่อนตลอด ทำไมเราต้องหาที่ใหม่ตลอด ทำไมเขาอยากทำร้ายเรา ทำไมเขาไม่อยากให้เราอยู่อย่างสงบ ก็ไม่เข้าใจเพราะว่าเป็นเด็ก” เธอเล่าย้อนถึงประสบการณ์ในอดีต


ผู้ลี้ภัยกับการรอนแรม ทางที่ไม่เลือกไม่ได้

หลายครั้งมักมีเสียงจากผู้ที่ยังอาจจะขาดความเข้าใจแสดงความรู้สึกไม่พอใจและไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัย และมองว่าพวกเขาเป็นภาระของประเทศ โดยอาจหลงลืมไปว่าหากเลือกได้ก็ย่อมไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัย ยิ่งในประเทศไทยซึ่งแม้จะให้สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาดูแลเรื่องผู้ลี้ภัย แต่ก็ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ทำให้พวกเขามีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงดูตัวเองได้

“ต้องอยู่ในแคมป์ อยู่ข้างในตลอด ถ้าออกไปก็โดนจับเข้าคุก หรือไม่ก็เขาจะส่งเรากลับไปที่ประเทศพม่าเลย ไม่มีอิสระ ไม่มีอนาคต ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ที่มีอย่างเดียวคือความปลอดภัย ไม่ต้องหลบซ่อน ไม่ต้องวิ่งหนี ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาทำร้าย มาเอาชีวิตไป” พอแสนโซเล่าถึงสถานะของผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพของไทย

paw.jpg
  • พอ - พอแสนโซ บรี (Pawsansoe Bree) อดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา

แม้พอแสนโซ จะมีโอกาสได้ถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม และได้รับสัญชาติอเมริกันในที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่จะได้รับโอกาสเช่นนั้น ในปี 2017 จำนวนผู้ลี้ภัยเท่าที่ UNHCR ทราบนั้นมีอยู่ 19.9 ล้านราย ในขณะที่ผู้ที่หมายย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สามได้ในปีเดียวกันมีเพียง 75,000 รายเท่านั้น นอกจากนี้การย้ายถิ่นฐานยังอาจทำให้ครอบครัวต้องแยกจากกัน

พอแสนโซ เองก็ตัดสินใจขอพ่อแม่ของเธอเพื่อไปยังอเมริกา เพราะแม้จะได้รับความปลอดภัย แต่ก็มองไม่เห็นอนาคตใดๆ ในค่ายอพยพที่จะทำให้เธอเลี้ยงดูครอบครัวได้ ขณะที่พ่อแม่ชราของเธอยังเลือกจะปักหลักอยู่ ณ ค่ายอพยพในไทย เพราะในใจมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับไปยังบ้านเกิด มากกว่าจะตามไปยังประเทศอเมริกาซึ่งพวกเขาไม่รู้ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งพอเองก็เล่าอีกว่าความไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยไม่ได้มีแค่ในไทย ที่อเมริกาเธอก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าทำไมต้องไปยังประเทศของพวกเขา แต่เธอก็จำอดทนกระทั่งได้ทุนเรียนทบปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกลับมาทำงานยังประเทศไทย เพื่อเลี้ยงดูแม่และพี่น้องที่ยังคงอยู่ในค่าย

“ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่อยากไปไหนหรอก อยากจะอยู่ใกล้ๆ ครอบครัวด้วยกัน ไม่ต้องแยกจากกัน แต่ยากมากเลย เราต้องตัดสินใจว่าจะต้องการชีวิตแบบไหน เราอยากจะให้คนทั่วโลกรู้ว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่ต้องการความช่วยเหลือ แต่เราต้องการความเข้าใจ เราต้องการอิสรภาพ เราต้องการความปลอดภัย เป็นคนที่เราอยากจะเป็น คือเรียน ได้การศึกษา มีบ้าน มีครอบครัว มีชีวิตที่ปลอดภัย มั่นคง มีความสุข” พอย้ำ


ไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัย แต่คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เหตุการณ์การอพยพของผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย ทำให้ พิมพ์ภัทรา รักเดช หรือ โรส ได้ตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัคร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย การได้ทำงานกับผู้ลี้ภัยทำให้เธอค้นพบมิติอื่นๆ ของความเป็นมนุษย์ของพวกเขามากกว่าเพียงตัวเลขผู้ผู้ได้รับผลกระทบที่เห็นในข่าว และเธอสนับสนุนให้ปฏิบัติตัวกับผู้ลี้ภัยเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมองว่าพว��เขาเป็นผู้ลี้ภัยที่น่าสงสารอยู่ตลอด เปิดใจรับฟัง และสอนวัฒนธรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวในสังคมใหม่นี้ได้


rose.jpg
  • พิมพ์ภัทรา รักเดช อาสาสมัคร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

“สิ่งที่ผู้ลี้ภัยเล่าให้หนูฟังบ่อยๆ ก็คืออยากให้มองเขามากกว่าแค่ผิดกฎหมาย อย่าใช้สายตาของกฎหมายมองเขา ลองเปิดใจใช้สายตาของความเป็นเพื่อน คิดว่าเราเป็นมนุษย์เหมือนกันในการปฏิสัมพันธ์กับเขา” เธอว่า

พอแสนโซ เองก็เห็นด้วย เนื่องจากผู้ลี้ภัยมักผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมามาก เสียบ้าน ครอบครัว และอิสรภาพ และต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง พุดคุยเรื่องทั่วไป สร้างความเชื่อใจคนรอบข้างอีกครั้งเพื่ออยู่ในสังคมแบบปกติ

แม้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยยังอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวของคนส่วนใหญ่ แต่ครูก้าเองก็ชี้ว่าเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากปัญหาหมอกควันซึ่งครั้งหนึ่งดูเหมือนห่างไกล แต่ในวันนี้ก็กลายเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องรับมือ

พอแสนโซ ชี้ว่าการกลายเป็นผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แม้จะเชื่อว่าประเทศมั่นคงแค่ไหน แต่เราก็ไม่มีทางรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรในอีกยี่สิบหรือสามสิบปีข้างหน้า

“ตอนที่ฉันกลายเป็นผู้ลี้ภัย ฉันก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นผู้ลี้ภัย ฉันก็ไม่อยากจะเป็นผู้ลี้ภัย ฉันไม่อยากเกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย ฉันไม่อยากเกิดมาในสถานการณ์แบบนั้น ทุกคนก็ไม่อยากเกิดมาในสถานการณ์แบบนั้น แต่ว่าประเทศบ้านเกิดของฉันการเมืองไม่ดี” พอแสนโซกล่าว และย้ำว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่มีใครอยากทิ้งบ้านเกิดตัวเองไปกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศที่ไม่เข้าใจภาษาของพวกเขา

“ผู้ลี้ภัยทุกคนหวังว่าจะได้กลับบ้าน จะได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย มั่นคง ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว” พอแสนโซกล่าว

journey02.jpg

คิม จงสถิตย์วัฒนา CEO บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า ในขณะที่ข่าวผู้ลี้ภัย เช่น ชาวโรฮิงญามีให้เห็นเยอะมาก แต่เด็กไทยกลับไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ จึงเกิดคำถามว่าหากพ่อแม่จะพูดคุยเรื่องผู้ลี้ภัยกับลูกจะพูดคุยอย่างไร หนังสือภาพ รอนแรม จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือให้พ่อแม่และเด็กสามารถเรียนรู้เรื่องราวของผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ ทางนานมีบุ๊คส์ จึงได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และจะมีการจัดอบรมครูในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ร่วมกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้านถิ่นฐาน (IOM) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำหนังสือภาพเล่มนี้ไปใช้ในการสอนนักเรียนได้