ฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 ยังเป็นประเด็นรณรงค์ในวงการกีฬาฟุตบอล หลังจากที่เขาถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทยตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. และถูกนำตัวไปขังต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. เป็นต้นมา เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าทำลายสถานที่ราชการขณะมีการประท้วงใหญ่ในบาห์เรนเมื่อปี 2555 และหน่วยงานรัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินเรื่องกักขัง รวมถึงพิจารณายื่นเรื่องส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องของรัฐบาลบาห์เรน แต่นานาประเทศ รวมถึงเครือข่ายฟุตบอลในหลายประเทศ ต่างเคลื่อนไหวคัดค้านการจับกุมฮาคีม
ล่าสุด สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานคำแถลงของสมาคมฟุตบอลแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ FFA ซึ่งยื่นเรื่องขอยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลเอเชียเยาวชนอายุไม่เกิน 23 ปี ระหว่างทีมออสเตรเลียและทีมไชนีสไทเปของไต้หวัน ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศไทยภายในเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ โดย FFA ให้เหตุผลว่าต้องการแสดงความเป็นเอกภาพกับนักฟุตบอลในประเทศที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวฮาคีม
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เกี่ยวกับวงฟุตบอล Goal รายงานว่าสโมสรฟุตบอลเวสเทิร์น ซิดนีย์ วันเดอเรอร์ ซึ่งเป็นทีมดิวิชั่น 1 ของวงการฟุตบอลออสเตรเลีย ได้ร่วมรณรงค์ในโครงการ #SaveHakeem ด้วยการปลดป้ายสปอนเซอร์ที่มีสัญลักษณ์ของบริษัท การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ออกจากสนามเหย้าของทีม นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพในวงการฟุตบอลออสเตรเลีย พร้อมย้ำว่า ทางการไทยควรปล่อยตัวฮาคีมโดยด่วน
As just reported on @FOXFOOTBALL coverage of #WSWvCCM - The @wswanderersfc have taken down a Thai Airways sponsor board today in support of Hakeem Al-Araibi. Well played. #SaveHakeem pic.twitter.com/OtpBFu6a9Z
— Daniel Garb (@DanielGarb) February 9, 2019
ทางด้านสโมสรฟุตบอลพาสโค เวลในเมืองเมลเบิร์น ซึ่งฮาคีมเซ็นสัญญาเป็นนักเตะของทีมตั้งแต่ปี 2560 แถลงยืนยันว่าจะไม่บรรจุนักเตะคนใดในตำแหน่งของฮาคีม เพราะจะรอจนกว่าเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำไทย
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลอาญารัชดาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า ฮาคีมจะต้องถูกขังในเรือนจำต่อไปอีกประมาณ 60 วัน ในระหว่างที่ต้องรอกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล โดยศาลมีกำหนดเบิกตัวฮาคีมอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งตัวแทนทางกฎหมายของฮาคีมเปิดเผยว่าจะยื่นเอกสารคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว โดยให้ทางการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัวฮาคีมแทน แต่ทางการไทยระบุก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่อาจปล่อยตัวชั่วคราวได้ เพราะเกรงว่าฮาคีมจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร
ส่วนความคืบหน้าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการออกแถลงการณ์โต้แย้งกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทย และรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจาก กต.ไทยแถลงเมื่อ 7 ก.พ.ว่า ทางการไทยไม่ได้รู้จักฮาคีม อัล-อาไรบี และคงจะไม่กักตัวฮาคีมถ้าหากว่าทางออสเตรเลียจะไม่เป็นฝ่ายออกหมายแดง หรือ red notice ของอินเตอร์โพล ทั้งยังระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียใช้เวลาหลายวันในการดำเนินการยกเลิกหมายแดงดังกล่าว
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ระบุว่า ทางการออสเตรเลียไม่ได้เป็นผู้ยื่นเอกสารขอให้อินเตอร์โพลออกหมายแดง แต่ผู้ยื่นคือทางการบาห์เรน ขณะที่อินเตอร์โพลในออสเตรเลียแจ้งเตือนทางการไทยเรื่องหมายแดงเป็นการกระทำตามขั้นตอนปฏิบัติตามปกติ แต่ก็ย้ำว่าฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว จึงไม่ควรแจ้งเตือนไทยเรื่องหมายแดง
ทั้งนี้ ฮาคีม อัล-อาไรบี ถูกกล่าวหาว่าทำลายสถานที่ราชการในการประท้วงใหญ่ที่บาห์เรนเมื่อปี 2555 ซึ่งเขายืนยันว่าขณะเกิดเหตุกำลังแข่งขันฟุตบอลในนัดที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ แต่เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวนานถึง 3 เดือน ขณะที่พี่ชายของเขาซึ่งเป็นแกนนำการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกควบคุมตัวด้วยเช่นกัน
ฮาคีมตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อปี 2557 โดยระบุว่าเขาถูกคุมคาม ข่มขู่ และทำร้ายร่างกายเมื่อตอนที่ถูกคุมตัวโดยรัฐบาลบาห์เรน ทำให้ออสเตรเลียอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้แก่เขา รวมถึงให้วีซ่าพำนักอาศัยถาวรเมื่อปี 2560 และฮาคีมได้ยื่นคำร้องขอวีซ่ากับสถานกงสุลไทยในเมลเบิร์นเพื่อเดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 โดยที่เจ้าพนักงานของสถานกงสุลไม่ได้ทักท้วงอะไร แต่เมื่อฮาคีมเดินทางถึงสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 พ.ย. กลับถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกักตัวเอาไว้
ทางการออสเตรเลียระบุว่าได้ดำเนินการขอยกเลิกหมายแดงของอินเตอร์โพลไปตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. แต่ทางการไทยไม่ได้ปล่อยตัวฮาคีม และคุมตัวต่อตามคำร้องของรัฐบาลบาห์เรน จนกระทั่งได้รับเอกสารประกอบคำร้องขอจับกุมชั่วคราวและคำร้องขอส่งตัวฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากบาห์เรนในวันที่ 3 ธ.ค.
สก็อต มอริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รวมถึงอดีตกัปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลียคนที่ 40 ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยหลายครั้ง ยืนยันว่าฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียแล้ว ไทยควรจะต้องส่งตัวเขากลับออสเตรเลียแทนการส่งไปบาห์เรน เพราะฮาคีมอาจเป็นอันตรายถึงชีวืตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: