ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ยุติธรรม Kick Off แก้ปัญหายาเสพติดในทุกมิติ เน้นย้ำกรมคุมประพฤติผนึกกำลังอาสาสมัครคุมประพฤติ ร่วมแก้ไขไม่ให้ผู้เสพกลับไปเสพซ้ำ

วันที่ 21 ก.ย.2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “มหกรรมรวมพลอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อปฏิบัติตามภารกิจของกรมคุมประพฤติ” โดยมี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และ วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และอาสาสมัครคุมประพฤติ ที่เข้าร่วมงานและระบบออนไลน์ในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยถ่ายทอดสดจาก ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม (เดิม) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

รัฐบาลโดยการนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ลดน้อยลง พร้อมมีข้อสั่งการกำหนดตัวชี้วัดการแก้ปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ทั้งมิติด้านการป้องกัน ปราบปราม การควบคุมยาเสพติด การตรวจสอบทรัพย์สิน การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือพร้อมบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงมีนโยบายมอบหมายให้กรมคุมประพฤติ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และภาคประชาชน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติซึ่งมีกว่า 20,000 รายทั่วประเทศเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติในพื้นที่ ซึ่งแนวทางการดำเนินการของกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มี 2 มิติ คือ 1) มิติด้านการป้องกันและปราบปราม ซึ่งมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ สำนักงาน ปปส. และ DSI 2) มิติด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เป็นหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ เพื่อตัดตอนไม่ให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด กลับไปใช้ยาเสพติด 

ในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบการคุมความประพฤติกว่า 170,000 ราย สำหรับปี พ.ศ. 2566 จนถึงปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2566) มีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบการคุมความประพฤติ ประมาณ 150,000 ราย รวมมีผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบจำนวนทั้งสิ้นกว่า 320,000 ราย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่กรมคุมประพฤติจะต้องดำเนินการไม่ให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ

และเพื่อตอบสนองและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ กรมคุมประพฤติจึงได้จัด “มหกรรมรวมพลอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจของกรมคุมประพฤติ” ขึ้น โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติร่วมแสดงพลัง จำนวน 5,000 คน ลงพื้นที่ติดตามดูแลช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับผู้กระทำผิดในพื้นที่จำนวน 10,000 ราย เพื่อให้เห็นถึงพลังการทำงานในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติในการร่วมแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดโดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่อยู่ในระบบการคุมความประพฤติกว่า 320,000 ราย ไม่ให้หวนกลับไปเสพ/ติดยาเสพติด อันเป็นการลด Demand ความต้องการยาเสพติด ช่วยตัดตอนกระบวนการค้ายาเสพติดและง่ายต่อการปราบปรามมากยิ่งขึ้น

รมว. กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำนโยบายรัฐบาลให้หน่วยงานราชการบูรณาการและเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ทั้งมิติด้านการป้องกันปราบปราม การควบคุมยาเสพติด การตรวจสอบทรัพย์สิน การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือพร้อมบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง กระทรวงยุติธรรม  โดย กรมคุมประพฤติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในมิติด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่มีอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของพนักงานคุมประพฤติในชุมชนที่จะติดตาม ดูแล และให้คำแนะนำสำหรับผู้กระทำผิดที่อยู่ในชุมชนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุมความประพฤติ เพื่อให้พ้นการคุมความประพฤติด้วยดีและไม่กระทำผิดซ้ำหรือไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอาชญากรรมต่างๆ อาสาสมัครคุมประพฤติ คือบุคคลสำคัญที่อยู่ในชุมชน อยู่ในพื้นที่ ดังนั้นการเข้าใจ เข้าถึงปัญหาและการแก้ไขคงไม่มีใครที่จะมีความรู้ลึกได้มากไปกว่า “อาสาสมัครคุมประพฤติ” ผมจึงขอถือโอกาสนี้เน้นย้ำการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดโดยมุ่งเน้นความร่วมมือของภาครัฐและพลังของอาสาสมัครคุมประพฤติ เป็นสำคัญ