จากข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน ประเทศจีน ในปี 2018 ชาวจีนแต่งงานกันน้อยที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีคู่รักแต่งงานกัน 10.14 ล้านคู่ ลดลง 4.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการสมรสอยู่ที่ 7.3 คู่ต่อ 1,000 คน ลดลงจาก 7.7 คู่ต่อ 1,000 คนในปีที่แล้ว
คนจีนรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลงเนื่องจากความกังวลทางการเงินท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เมื่อผนวกกับอัตราการเกิดที่ลดลง นี่จึงกลายเป็นปัญหาของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
เหลียง จ้งถาง นักประชากรศาสตร์ จากสถาบันมนุษยศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Social Sciences) ชี้ว่านอกจากปัจจัยด้านการเงินแล้ว เหตุผลที่อัตราการสมรสลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คนหนุ่มสาวมีจำนวนลดลง เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน ซึ่งจำกัดจำนวนบุตรที่ครอบครัวหนึ่งจะมีได้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 กระทั่งถึงปี 2015
“คนจำนวนมากไม่กล้าแต่งงานหรือมีลูก” เหลียงกล่าว
ความกังวลที่จะแต่งงานซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับชนชั้นกลางชาวจีนนั้น เป็นปัญหาต่อรัฐบาลจีน ซึ่งพยายามหาทางกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่โตขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สองของปี 2019 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดของจีนนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 1992
เซซีเลีย หู่ สาวโสดชาวจีนวัย 26 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง เผยว่าเธอเก็บเงินส่วนใหญ่จากการทำงานของเธอไว้ออมหรือลงทุน
"ฉันหวังว่ามาตรฐานความเป็นอยู่จะดีขึ้น เพื่อนฉันทุกคนก็เห็นตรงกันว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจคือรากฐานของการแต่งงานที่ดี" เธอกล่าว
ทั้งนี้ ทางเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ชี้ว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนนั้น มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตในไตรมาสนี้ เป็นผลจากการพยายามปรับสมดุลโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยก่อนหน้านี้เน้นไปที่การลงทุนและส่งออก
รัฐบาลจีนหวังพึ่งการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน เพื่อคานกันกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยหนุนการใช้จ่ายด้วยการปรับลดภาษีเงินได้ลงในปีที่แล้ว รวมถึงให้เงินอุดหนุนครัวเรือนให้ซื้อสินค้าหลายรายการในปีนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้
ในปีนี้ การเติบโตของภาคการค้าปลีกชะลอตัวลงเหลือ 7.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกรกฎาคม ลดลงจากเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดขายรถยนต์โดยสาร ซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางชาวจีน ก็มียอดขายลดลง 11.6 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 1.5 ล้านคันในเดือนกรกฎาคม นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 แล้ว
เซี้ยตัน นักวิจัยจากธนาคารแห่งการสื่อสารแห่งประเทศจีน (Bank of Communications) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ซึ่งเห็นได้จากการลดลงของอัตราการสมรส อัตรการเกิด และประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคไป โดยการแต่งงานลดลงนั้นก็หมายถึงการใช้จ่ายที่ลดลงด้วย
การแต่งงานในจีนนั้นมีการใช้จ่ายในปริมาณมหาศาล ทั้งการซื้อสินค้าราคาแพงอย่างรถยนต์ บ้าน และเครื่องเพชร รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น บริการวางแผนงานแต่งงาน บริการจัดเลี้ยง และการท่องเที่ยว ข้อมูลจากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมเชียนเจิน (Qianzhan Industry Research Institute) ประมาณการณ์ว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานของชาวจีนนั้นอยู่ที่ปีละ 1.8 พันล้านหยวน (ราว 7.8 พันล้านบาท)
นอกจากนี้ การแต่งงานที่ลดลงยังหมายถึงจำนวนบุตรที่ลดลง ยิ่งซ้ำเติมปัญหาสังคมสูงวัยและจำนวนแรงงานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าทางรัฐบาลจะปรับแก้นโยบายลูกคนเดียวเสียใหม่ ให้คู่รักชาวจีนมีลูกได้คู่ละสองคนแล้วในปี 2016 ทว่าจำนวนเด็กแรกเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่แล้วมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 15.23 ล้านคน น้อยที่สุดนับตั้งแต่จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวมา