ไม่พบผลการค้นหา
2 แบงก์เปิดบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้าย พ้นจุดต่ำสุด แต่ไม่พ้นขีดอันตราย เตือนปัจจัยเกิดโรคแทรกซ้อน ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น เอสเอ็มอีขาดเงินทุนหมุนเวียน เสี่ยงปิดกิจการเพิ่ม จับตาปัญหาว่างงานปะทุ

อมรเทพ​ จาวะลา​ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ สำนักวิจัย​ ธนาคาร​ ซีไอเอ็มบี​ ไทย​ เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ในชื่อ 'เศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่...ระวังโรคแทรกซ้อน' ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ไม่ได้หดตัวแรงอย่างที่ที่เคยประเมินไว้ 

อีกทั้งเศรษฐกิจโลกมีท่าทีฟื้นตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของประเทศสำคัญ รวมทั้งมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้เร็ว กำลังการผลิตกำลังปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำในช่วงล็อกดาวน์ การจ้างงานและชั่วโมงการทำงานกำลังพัฒนาในทางที่ดีขึ้นในธุรกิจภาคส่งออก เช่น กลุ่มอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ 

แต่การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายมีผลให้ความต้องการในประเทศยังอ่อนแอ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้าหรือชะลอการลงทุนในโครงการใหญ่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือแม้แต่การย้ายฐานการลงทุนมาไทย อีกทั้งการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้าในปีหน้า 

คาดปี 2563 เศรษฐกิจ -7.5% ปีหน้า ขยายตัวเพียง 2.8%

ดังนั้นสำนักงานวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขึ้นจาก -8.9% เป็น -7.5% และให้มุมมองเศรษฐกิจปีหน้าว่าจะขยายตัว 2.8% นอกจากนี้ ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปีตลอดปีหน้า ส่วนค่าเงิน มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ตามความผันผวนของนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 

สำนักงานวิจัยฯ จึงคาดว่าระดับเงินบาทปลายปีนี้จะอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนปรับแข็งค่ามาปิดที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปีหน้าตามการเกินดุลการค้าของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง 

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดหรือขั้นเลวร้ายที่สุดไปแล้วในช่วงการปิดเมืองในไตรมาส 2 ซึ่งช่วงเวลานั้นเหมือนคนไข้อาการหนักในห้อง ICU และไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลให้การส่งออกหดตัวหนักตามวิกฤติตลาดโลก พร้อมๆ กับการบริโภคและการลงทุนที่หดตัวแรง และเมื่อมีมาตรการคลายการล็อกดาวน์ ดัชนีเศรษฐกิจรายเดือนส่งสัญญาณลดการหดตัวลงจากปีก่อนหรือฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนยังคงอ่อนแอมาก อีกทั้งยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แม้นักท่องเที่ยวไทยจะมีบ้าง แต่ด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอก็ยากจะชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังเปราะบาง เหมือนแม้พ้นขีดอันตรายแต่ยังต้องพักฟื้นยาว 

อย่างไรก็ตาม แม้คนไข้ได้ผ่านช่วงวิกฤติและกำลังพักฟื้นอยู่ แต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจทำให้เศรษฐกิจกลับไปหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสได้ เหมือนตัว W-Shape อาการแทรกซ้อนมีหลากหลายและยากจะคาดเดาจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่น การระบาดรอบสองและนำไปสู่การเว้นระยะห่างที่เคร่งครัดมากขึ้น หรือปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศ หรือปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจลามไปสู่สงครามเทคโนโลยีหรือสงครามเย็นในรูปแบบใหม่ หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ ที่อาจกระทบทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท แต่ปัจจัยที่กล่าวมาล้วนเป็นปัจจัยระยะสั้นที่กระทบการฟื้นตัวในปีนี้ แต่หากบริหารจัดการได้ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงก่อนหน้า

"ที่ผมกังวลในขณะนี้คือปัจจัยที่จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ที่อาจเติบโตช้ารั้งท้ายในภูมิภาคด้วย 2 ประการ" อมรเทพ กล่าว

ชี้ 2 ปัจจัยฉุดไทยฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน 'ท่องเที่ยวไม่ฟื้น-เอสเอ็มอีขาดเงินทุนหมุนเวียน'

พร้อมอธิบายว่า ประการแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมาไม่ได้เต็มที่ คาดว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวมาได้ราว 6.3 ล้านคน ซึ่งน่าจะมาจากนักท่องเที่ยวจีนและใกล้เคียง โดยจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังหากมีมาตรการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังต่ำถ้าเทียบกับโซนยุโรป ซึ่งยังยากที่จะพร้อมเปิดให้เดินทางได้ 

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหลายจะยังคงประสบปัญหารายได้น้อยไปอีกนาน หลายแห่งอาจต้องเลิกจ้างพนักงานหรือลดชั่วโมงการทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือต้องปิดตัวลงหรือควบรวมเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวมีมากกว่า 10% ของ GDP และอาจกระทบอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นอกจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารอีก เช่น การขนส่ง การค้าปลีก และอุตสาหกรรมอาหาร 

ประการที่สอง ธุรกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน แม้สภาพคล่องในระบบจะมีล้น แต่โดยมากอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่หรือคนมีรายได้หรือทรัพย์สินมาก ขณะที่กลุ่ม SME และคนรายได้น้อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำกำลังจะมีปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว มองต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะมีการต่ออายุมาตรการนี้หรือไม่ สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินมีแนวโน้มโตช้า เพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจในระดับ SMEและระดับล่างมีสูง

และหากไม่มีลูกค้ากลับเข้ามาชำระหนี้มากพอ กระแสเงินสดในระบบธนาคารพาณิชย์ที่พร้อมปล่อยให้คนที่ต้องการขยายธุรกิจรายใหม่อาจน้อยลง ซึ่งจะกระทบการลงทุนภาคเอกชนที่อาจยังคงหดตัวต่อเนื่องในปีหน้าได้ มาตรการดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอ ต่อให้ลดดอกเบี้ยลงอีก สภาพคล่องยังล้นแต่อาจเข้าไม่ถึงคนที่ต้องการสินเชื่อมาประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ได้ 

KKP Research คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ -9% ปีหน้ายังฟื้นตัวยาก

ด้าน KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'เศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวยาก เสี่ยงสะดุดจาก 3 ปัจจัย' ระบุว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรมชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึง 12% ของจีดีพี ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่น ๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

โดยหนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้าง คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวเลยในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว 

ด้วยเหตุนี้ KKP Research จึงปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% โดยมีปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิมจากที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเกิดขึ้นจริงได้ยาก ขณะที่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ไว้ที่ -9% 

"แนวโน้มเศรษฐกิจจากหดตัว 9% ในปีนี้ เป็นเติบโตเพียง 3.4% ในปีหน้า สะท้อนถึงการที่เศรษฐกิจในปีหน้ายังคงห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ระดับของกิจกรรมเศรษฐกิจก่อนโควิด-19" 

3 ปัจจัยเสี่ยง กดเศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นน้ำ

อย่างไรก็ตาม ในบทวิเคราะห์จาก KKP Research ประเมิน 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 

1.ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ โดยประเมินว่า หากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว แต่ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธุรกิจอาจเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก โรงแรมจะยังประสบปัญหาอัตราการเข้าพักที่ยังไม่กลับมาจนถึงระดับที่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ เมื่อดูตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานในรูปเงินสด (EBITDA) ของบริษัทในกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่ากระแสเงินสดเปลี่ยนจากตัวเลขบวก เป็นติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้ของบริษัท

ทั้งนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงมากกว่าสำหรับโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 

KKP Research พบว่า ธุรกิจหลายกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) หรือสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้สมมติฐานว่าหากบริษัทมีอัตราส่วนนี้น้อยกว่า 1 หรือกำไรน้อยกว่าดอกเบี้ยจ่ายจะเข้าข่ายเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากนับรวมจำนวนหนี้ในกลุ่มบริษัทกลุ่มนี้จะคิดเป็นกว่า 15.7% ของปริมาณหนี้ทั้งหมดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2/2563 (ไม่รวมบริษัทในภาคการเงินและ REIT) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาส 4/2562 ที่อยู่ที่ระดับ 8.1% หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และธุรกิจยังคงมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

2.ผลกระทบต่อการว่างงานอาจรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเสี่ยงด้านกระแสเงินสดอาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายการปิดเมือง แต่คาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับการจ้างงานยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จากความเสี่ยงในการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่จะยิ่งสูงขึ้นหากสถานการณ์ลากยาวต่อไป

ตัวเลขชั่วโมงการทำงานในเดือน มิ.ย. 2563 ปรับตัวลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนและหดตัวลงในแทบทุกกลุ่มอาชีพ สะท้อนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะตัวเลขสำรวจการจ้างงานในไตรมาส 2 ที่ระบุว่ามีการว่างงานประมาณ 7 แสนคน หรือ 1.9% อาจไม่ใช่ปัจจัยที่สะท้อนสถานการณ์ในตลาดแรงงานได้ทั้งหมด หากนับรวมกลุ่มคนที่ถูกพักงานไม่ได้รับเงินเดือน หรือคนที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง จะทำให้ตัวเลขนี้รวมกับคนว่างงานในปัจจุบันสูงถึงกว่า 3 ล้านคน 

KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปี 2564 ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งผ่านการชะลอลงของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของการบริโภคทั้งหมด ทำให้การบริโภคในปี 2564 อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้ 

3.มาตรการพักชำระหนี้แบบทั่วไปกำลังจะหมดลง ซึ่งหลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย การพักและเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 3 -6 เดือน การเพิ่มระยะเวลาในการคืนหนี้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของหนี้และสถาบันการเงิน จำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ณ เดือน ก.ค. 2563 โดยรวมมีถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ

กระทั่ง ธปท.ได้ประกาศว่าหลังจากเดือน ต.ค. เป็นต้นไปจะไม่มีการต่อโครงการพักชำระหนี้แบบทั่วไปเช่นในปัจจุบันอีก เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าร่วมโครงการทั้งที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริง (Moral Hazard) และป้องกันความเคยชินจากการไม่จ่ายหนี้ของลูกหนี้ ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าเป็นรายๆ ไป ทำให้ยังต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) 

ด้วยเหตุนี้จึงประเมินว่าสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่จะกดดันการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากธนาคาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: