วันที่ 16 ม.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระบวนการขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่าพร้อมเข้ามาชี้แจงตั้งแต่ 15 ก.พ. เป็นต้นไปว่า น่าจะเป็นเวลาที่เนิ่นนานเกินกว่าเหตุที่จำเป็น เพราะดูจากกระบวนการยื่นญัตติก็ทำอย่างรวดเร็ว แต่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านและประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ทำความเห็นทักท้วงไปว่า เป็นการทอดเวลาที่ยาวนานเกินไป เพราะโดยปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนหลังจากการยื่นญัตติ
สำหรับเนื้อหาในการอภิปรายนั้น นพ.ชลน่าน เผยว่า จะครอบคลุมทุกนโยบายทั้ง 12 ด้านของรัฐบาล รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น เรื่องยาเสพติด ทุนจีนสีเทา ปฏิรูประบบราชการ ก็จะถูกหยิบยกมาสอบถามและเสนอแนะต่อไปโดยมี สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาสาระและบทบาทหน้าที่ในการอภิปราย จัดสรรกันไปตามความถนัดของแต่ละพรรคการเมือง เดิมในการอภิปรายทั่วไปครั้งล่าสุดได้เวลาทั้งหมด 22 ชั่วโมง คราวนี้จึงตั้งใจจะต่อรองให้ไม่ต่ำกว่า 22 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น
"เป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย แม้ไม่มีการลงมติในสภา แต่จะอภิปรายให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจลงมติในคูหาเลือกตั้ง โดยชี้ให้เห็นความล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่อง ในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก เราจะถอดหน้ากากคนดี คนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราจะพูดในสภา"
นพ.ชลน่าน ยังระบุว่า บุคคลผู้จะมาอภิปรายของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ได้ด้วยความสมัครใจ แต่ถูกคัดเลือกและมอบหมายจากพรรคให้ทำหน้าที่ เสมือนเวทีปราศรัยใหญ่ แต่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคมีความมั่นใจในบุคคลที่ได้รับคัดเลือก ว่าจะนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ได้
เมื่อถามว่าการทอดเวลาของรัฐบาลที่นานกว่าเป็นปกติ กลัวว่าจะเป็นการชิงยุบสภาหนีหรือไม่ นพ.ชลน่าน ชี้ว่า 2 วันที่ผ่านมานี้ มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจะยุบสภาก่อน 15 ก.พ. เพื่อหนีการอภิปราย หาก ส.ส.ที่ประกาศว่าจะย้ายพรรคยังทำหน้าที่อยู่หลังวันที่ 6 ก.พ. เป็นต้นไปโดยไม่ย้าย ก็ยืนยันได้เลยว่าจะมีการยุบสภาแน่ เพราะตรงตามเงื่อนไข 90 วันที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง
"ระบอบประชาธิปไตยอาศัยอำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ท่านหนีสภาได้ แต่ท่านหนีประชาชนไม่ได้ เพราะประชาชนจะพิพากษาท่านในคูหาเลือกตั้ง อย่าได้คิดทำ หากท่านได้ชี้แจงในสภา อาจจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ถ้าท่านหนีการอภิปราย จะไม่มีโอกาสอีกเลย"
นพ.ชลน่าน ยังชี้ว่าการยุบสภาอาจขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามด้วย โดยให้จับตาวันที่ 14 ก.พ. 24 ก.พ. และ 7 มี.ค. วันดังกล่าวนี้ ถือเป็นฤกษ์งามยามดี ที่ยุบสภาแล้วอาจจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ แต่ฤกษ์ดีของประชาชนคือวันที่เข้าไปกาบัตรเลือกตั้ง
"วันที่ 14 ก.พ. คือวันแห่งความรัก แต่มีใครบางคนจะเปลี่ยนวันแห่งความรักให้เป็นวันแห่งความเกลียด ผมก็ช่วยไม่ได้นะ ประชาชนจะฝังจำความเกลียดนั้นเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง" นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเสนอเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นการฉกชิงความได้เปรียบของรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบแบบกำปั้นทุบดินตรงไหนก็ถูก ว่าใช่แน่นอน ขอแสดงความยินดีกับประชาชนที่ได้รับเงินเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต แต่การมาเติมเงินในช่วง 2 เดือนสุดท้าย เพราะคิดว่าจะได้คะแนนเพิ่ม ย่อมไม่สามารถซื้อใจประชาชนได้
"ประชาชนรู้ดีว่าเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชนและจะรู้ว่าทำไมผ่านมาถึง 8 ปี ถึงเพิ่งมาให้ เป็นการอาศัยจังหวะทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น แต่คุณเอาเปรียบประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจไม่ได้ คุณให้ช้าไป" นพ.ชลน่าน ระบุ
'ชลน่าน' ย้ำมารยาทไม่ดีชิงจับมือก่อนเลือกตั้ง เผยจับมือพรรคไม่นั่งร้านเผด็จการ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงหลักการในการรวมพรรคจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐว่า เรามีหลักการจับมือกับคนที่ไม่ขัดหลักประชาธิปไตย มีนโยบายที่ตรงกัน โดย นพ.ชลน่าน ย้ำว่า แพทองธาร ไม่ได้เปิดเรื่องการจับมือ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น
นพ.ชลน่าน ระบุว่า การประกาศจับมือกับพรรคการเมืองก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นมารยาทที่ไม่ดีทางการเมือง ไม่เคารพอำนาจประชาชน เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะมอบอำนาจให้ใคร แต่เราขอจับมือกับประชาชนก่อน หากดูเฉพาะวันเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเกินกว่า 250 เสียง จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะเลือกพรรคการเมืองมามีส่วนร่วมกับเราได้
“พรรคเพื่อไทยจะร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้ เราจับมือกับพรรคไหน เราต้องดูว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร พรรคที่เราจะจับมือโดยหลักการ คือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เคารพประชาธิปไตยเหมือนพรรคเพื่อไทย ไม่สนับสนุนและเป็นนั่งร้านให้เผด็จการ”
นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ภาคประชาชนไว้ใจพรรคที่จะมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย ต้องดูว่าเราทำงานอย่างไร อุปสรรคและปัญหาเป็นหลักการที่เราจะทำร่วมกัน แต่เราไม่ประกาศจับมือกับใครก่อนเลือกตั้งแน่นอน
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องไปถามพรรคประชารัฐว่ามีอุดมการณ์อย่างไร ถ้าตนพูดเองจะไม่ดี แต่ประชาชนทราบและรู้เห็นอยู่แล้ว