ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ มีมติอุ้มร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินให้ ครม.พิจารณาก่อน 60 วันค่อยเสนอให้สภาฯ มีมติรับหลักการ โดย ส.ส.ก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.มีสาระสำคัญให้การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ อยู่ในการตรวจสอบของ ตุลาการ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องขออนุมัติจากรัฐสภา

วันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ โดย รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล เปิดอภิปรายว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นกฎหมายใหม่ ที่มีหลักการและเหตุผลไม่มาก ซึ่งกฎหมายปัจจุบัน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการออกกำหนดต่างๆที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รัฐสภา ทำให้ นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐบาล สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปได้อย่างไม่มีกำหนด 

ทาง พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและไม่กระทบสิทธิเสรีภาพ และที่ผ่านมาได้ใช้ในการป้องกันโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบวงกว้าง และแม้จะเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนตัวก็เห็นว่าเป็นการก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น โดยยกตัวอย่าง ที่มีกรณีห้ามเสนอข่าวให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือกระทบต่อความสงบ เป็นการกำหนดว่า ต่อให้ข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ก็ถือว่าผิด ใช่หรือไม่ หรือกรณีการจับกุมบุคคล ที่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ หากสงสัยบุคคลใดที่ทำให้เกิดความไม่สงบ และควบคุมตัว 7 วัน ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ทำให้ผู้ถูกควบคุม อาจถูกนำไปยังที่ที่ญาติ หรือ ทนายความ ไม่สามารถเดินทางไปถึง และอาจะมีกรณีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น 

รังสิมันต์ ยังเห็นว่า เมื่อมีการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว กลับไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เพราะมีกฎหมายที่ป้องกันอยู่ดังนั้น สาระการแก้ไขคือ การตัดข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ให้อยู่ในสถานปกครอง เพื่อยืนยันว่า การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ จะอยู่ในการตรวจสอบของ ตุลาการ และควรให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผ่านกระบวนการของรัฐสภา หากรัฐสภา ไม่เห็นด้วยในการขยายเวลา ก็ต้องยุติการขยายเวลา พร้อมกำหนดอีกว่า นายกรัฐมนตรี ต้องนำเสนอรายงานการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน 30 วัน

นอกจากนี้ ยังต้องตัดข้อกำหนดเรื่องการควบคุมการเสนอข่าวออกไป เนื่องจากเห็นว่า ข่าวสารที่ประชาชนควรรับรู้ ไม่ควรเป็นด้านเดียวจากภาครัฐ แต่ต้องเป็นมุมที่แตกต่างจากหลายสื่อ เพื่อให้ประชาชน พิจารณาและร่วมตรวจสอบรัฐบาลต่อการใช้กฎหมายได้

จากนั้น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อาทิ อาดิลัน อาลีอิสเลาะ ส.ส.ยะยา มองถึงการประกาศกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้มี 30 วัน การขอขยายได้ไม่เกิน 30 วัน หรือ กรณีการเห็นของของ คณะรัฐมนตรี และเสนอความเห็นชอบต่อสภา รวมถึงการควบคุมบุคคล ที่ปรับแก้ ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง อาจมีบางเนื้อหาที่เห็นต่างอยู่ โดยเฉพาะ การควบคุมตัว ยืนยันว่า ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา ถ้าไม่ระบุไว้ถ้าไม่ควบคุมตัวที่สถานที่ใดก็อาจเกิดปัญหาต่อการใช้กฎหมาย จึงควรต้องใช้รูปแบบกฎหมายปัจจุบัน ส่วนการรายงานตัวนั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีข้อร้องเรียนว่า เมื่อมีการควบคุมตัว มีการซ้อมบุคคลให้รับสารภาพ ทั้งที่ไม่ผิด และเห็นควรรับหลักการเพื่อไปปรับแก้ไขต่อไป

กระทั่งเวลา 15.04 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะอนุมัติให้คณะรัฐมนตรี รับร่าง พ.รบ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. .... ไปพิจารณา 60 วันก่อนส่งคืนกลับมาลงมติรับหลักการหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 227 เสียง ไม่เห็นด้วย 157 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง