เป็นอีกครั้งที่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ นำมาสู่การชะลอใช้จ่ายของประชาชน และภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นปลุกประชาชน (ที่ยังพอมีกำลังซื้อ) ออกมาใช้จ่าย รวมถึงเติมเงินในกระเป๋าแบบเร่งด่วน รวมถึงแนวคิดงัดมาตรการ 'ชิมช้อปใช้-ช้อปช่วยชาติ' ที่เคยทำมาแล้ว ออกมาใช้อีกครั้งตามคำให้สัมภาษณ์ของกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่เมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
'วอยซ์ออนไลน์' พาย้อนดูอดีตของ 2 โครงการดังกล่าว
สำหรับ 'ชิมช้อปใช้' เป็นหนึ่งในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ที่รัฐบาลประกาศในเดือน ส.ค. 2562 เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฟสแรกเริ่มให้ลงทะเบียน 10 ล้านคน ในเดือน ก.ย. 2562 โดยสิทธิ์จากมาตรการ คือ แจกเงินผ่าน g-Wallet ช่อง 1 หรือ 'เป๋าตัง 1' จำนวน 1,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น และสิทธิ์ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 หรือ 'เป๋าตัง 2' ด้วยการเติมเงินใส่แอปพลิเคชันเพื่อใช้ซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 30,000 บาท ได้เงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท ในทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน
แม้ว่าในเฟสแรกจะติดลมบน เนื่องจากได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้มีผู้ลงทะเบียนเต็มจำนวนไปแบบชนิดที่ต้องแย่งกันลงทะเบียนแบบอดหลับอดนอน แต่หากมาดูการใช้จ่ายยังสวนทางกับสิ่งที่คาดหวังไว้มาก เมื่อพบว่าประชาชนใช้จ่ายจริงประมาณ 9,000 ล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นวงเงินในเป๋าตัง 1 ส่วนเป๋าตัง 2 มีการใช้จ่ายวงเงิน 200-300 ล้านบาทเท่านั้น จนต้องออก 'ชิมช้อปใช้' เฟสที่ 2 และ 3 ตามมา
สำหรับ 'ชิมช้อปใช้' เฟส 2 ออกมาเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2562 เปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 3 ล้านคน และปรับเงื่อนไขให้แรงจูงใจใช้เงินในเป๋าตัง 2 โดยในส่วนที่ใช้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท จะได้เงินคืน 20% หรือ 4,000 บาท เมื่อรวม 30,000 แรกเท่ากับได้เงินคืนสูงสุด 8,500 บาท รวมถึงมีการขยายเวลามาตรการจากสิ้นเดือน พ.ย. ไปสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 แต่สุดท้ายคนก็ยังใช้จ่ายเพียงแค่เป๋าตัง 1 เหมือนเดิม
เมื่อยังไม่บรรลุวัตุประสงค์ 'ชิมช้อปใช้' เฟส 3 จึงต้องตามมา งวดนี้งดแจกเงิน 1,000 บาท แต่ปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มการใช้จ่ายผ่านเป๋าตัง 2 ให้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน และขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์เดิมด้วย และการใช้จ่ายผ่านเป๋าตัง 2 จะได้รับเงินคืน โดยไม่ต้องรอจนถึงสิ้นสุดโครงการ กล่าวคือ ใช้เดือนไหนจ่ายเงินคืนในเดือนนั้น พร้อมจูงใจรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท ลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์เข้ามากระตุ้นแทนอีกด้วย
แม้ว่ามาตรการ 'ชิมช้อปใช้' ทั้ง 3 เฟส จะสิ้นสุดลงไปแล้วกับเวลา 4 เดือนเศษๆ โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการในวันที่ 27 ก.ย. 2562 – 31 ม.ค. 2563 จะพบว่ามีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 11.8 ล้านคน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ 14.35 ล้านคน ซึ่งมียอดการใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 11,672 ล้านบาท และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ประมาณ 17,148 ล้านบาท แต่หากดูเม็ดเงินจากกระเป๋าตังค์ 1 ที่รัฐบาลแจก 13,000 ล้านบาท ก็ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มาก
เมื่อผลรวมไม่เท่ากับผลลัพธ์ เพราะความเป็นจริงเงินที่เติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากชุดมาตรการ 'ชิมช้อปใช้' รวมกันแล้วอยู่แค่เพียงหลักหมื่นล้านบาทต้น ๆ เท่านั้น
ทั้งที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ว่า หากมีการใช้จ่ายผ่านมาตรการ 60,000 ล้านบาท จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นได้ 0.2-0.3% ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าจีดีพีแทบไม่กระเตื้องจากชุดมาตรการนี้
ทั้งที่ความจริงหากกระตุ้นให้คนใช้เงินผ่านเป๋าตังค์ 2 เต็ม 30,000-50,000 บาท จะมีเงินเข้าไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมถึง 3-5 แสนล้านบาทก็ตาม
อีกหนึ่งชุดมาตรการที่รัฐบาล คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ดึงมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแทบทุกปี คือ มาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' ที่ดำเนินการต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2558-2561 แต่เว้นว่างในปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยระยะเวลาของปีล่าสุดที่ดำเนินการในปี 2561 คาบเกี่ยวกับปี 2562 ประกอบกับมีมาตรการ 'ชิปช้อปใช้' ในช่วงปลายปีออกมาด้วย
โดยชุดมาตรการนี้ คือการช่วยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นำรายจ่ายไปหักลดหย่อนภาษี จากการซื้อสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีการเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเก่าว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยเฉพาะเจ้าของห้างสรรพสินค้า มากกว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน เพราะสินค้าและบริการส่วนใหญ่อยู่ในห้างฯ จึงเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ เป็นซื้อสินค้าหรือค่าบริการกลุ่มยางรถยนต์ หนังสือ รวม e-book และสินค้า OTOP
ความสับสนจากมาตรการนี้ คือ ไม่ได้ลดภาษีได้ทั้งหมด 15,000 บาท เพียงแต่ทำให้ฐานรายได้ลดลง ทำให้เสียภาษีน้อยลงตาม 'ฐานภาษี' โดยค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าตามเงื่อนไขสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยมูลค่าซื้อสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะลดภาษีได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ที่อยู่บนฐานภาษี เช่น รายได้สุทธิต่อปีอยู่ที่ 150,001-300,000 บาท ฐานภาษีที่ 5% เงินคืนภาษีสูงสุดที่จะได้รับ คือ 750 บาท ขณะที่ผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีอยู่ที่ 5,000,001 ขึ้นไป ฐานภาษีที่ 35% เงินคืนภาษีสูงสุดที่จะได้รับ คือ 5,250 บาท
ดังนั้นจะเห็นว่าชุดมาตรการนี้กลุ่มคนจะได้ประโยชน์ หรือคุ้มค่าที่สุด คือ ผู้ที่มีฐานภาษีสูง ส่วนผู้ที่มีฐานภาษีน้อย เช่น ผู้ที่มีฐานการเสียภาษีเพียงแค่ 5% อาจต้องพิจารณาด้วยว่า สินค้าที่จะซื้อนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะหากต้องซื้อของมูลค่า 15,000 บาท เพื่อแลกกับส่วนลดเพียงแค่ 750 บาท อาจไม่คุ้มค่า หรืออาจจะเป็นการก่อหนี้เพิ่มโดยใช่เหตุ เพราะหลายคนยังมีพฤติกรรมการดึงเงินในอนาคตออกมาใช้
หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญทางฝั่งภาคเอกชน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ขาดไม่ได้ คือ มาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' ซึ่งจะสามารถดึงเงินของผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่แนะด้วยว่ารัฐต้องปรับเงื่อนไขใหม่ โดยเฉพาะนำรายจ่ายไปหักลดหย่อนภาษี จากการซื้อสินค้าและบริการได้สูงสุด 50,000 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด
ขณะเดียวกันสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ในปี 2558 และ ปี 2559 มีผู้เข้าร่วมมาตรการใช้จ่ายกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งหากกำหนดให้จับจ่ายสินค้าได้ทุกประเภทโดยมีวงเงิน 50,000 บาท ในระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 75,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' ที่เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ หากแยกเป็นรายปี พบว่ามีเงินหมุนเวียนจากการซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่ 10,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งรวม 4 ปีมีเงินหมุนเวียนประมาณ 70,000 ล้านบาท โดย
ปี 2558 ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 รวม 7 วัน ให้ซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ นำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เงินสะพัด 22,000 ล้านบาท
ปี 2559 ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2559 รวม 23 วัน ให้ซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ นำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เงินสะพัด 17,000 ล้านบาท
ปี 2560 ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560 รวม 23 วัน ให้ซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ นำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เงินสะพัด 22,500 ล้านบาท
ปี 2561 ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561 – 16 ม.ค. 2562 รวม 31 วัน ให้ซื้อสินค้าหรือค่าบริการกลุ่มยางรถยนต์ หนังสือ รวม e-book และสินค้า OTOP นำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เงินสะพัด 12,000 ล้านบาท
แน่นอนว่ามาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้ลดลง ซึ่งข้อมูลจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการช้อปช่วยชาติปี 2560 ที่มีเงินสะพัดมากที่สุด มีคนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประมาณ 22,500 ล้านบาท ทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท ขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็มีรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 245,244 ล้านบาท เพียงแค่ระยะเวลา 23 วันของมาตรการนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากอยากได้ค่าลดหย่อน 15,000 บาทจากรัฐบาลอยู่
ล่าสุดปลัดกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณว่าการประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 7 ต.ค. 2563 จะมีการเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่าน 'ชิมช้อปใช้' และ 'ช้อปช่วยชาติ' เพื่อให้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนระยะสั้น เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อไปจากเดิม
ส่วนรายละเอียดของมาตรการกำลังพิจารณาดูอยู่มีหลายวิธี เช่น มาตรการ 'ชิมช้อปใช้' อาจจะเป็นการให้ร่วมจ่าย ไม่ได้รัฐให้เงินฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการ 'ช้อปช่วยชาติ' อาจเป็นให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษี หรือ มาตรการทางการเงิน เช่น ให้นำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หรือ จะคืนเป็นเงินสด (แคชแบ็ค) แทน
แม้ว่าทั้ง 2 มาตรการจะดึงเงินออกจากระเป๋าประชาชนได้บางส่วน แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเรียกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจมากขนาดชนิดที่ว่าจีดีพีพุ่ง หรือเกิดเงินหมุนอีกหลายรอบก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก และหากมาตรการที่จะออกมาใหม่รัดกุมไม่เพียงพอ ปิดช่องว่างไม่ดี ก็คงไม่ต่างจากสิ่งเสพติดทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีประโยชน์ใดใด ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า คนที่ได้ประโยชน์จาก 'ช้อปช่วยชาติ' มีไม่ถึง 10% หรือ 'ชิมช้อปใช้' รอใช้แต่เงินแจก สุดท้ายอาจจะเป็นปัญหาตามมา หรือเรียกได้ว่า วิกฤต ซ้อน วิกฤต ก็เป็นไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง