ไม่พบผลการค้นหา
โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ODOS (One District One Scholarship) มีผู้จบการศึกษาแล้ว 4 รุ่น  มีผู้รับทุน รวมทั้งสิ้น 3,093 คน จบในประเทศพันคน จบนอกเกือบ 2 พัน

โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ODOS (One District One Scholarship)  ถือกำเนิดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มดำเนินการปี 2547  มีเป้าหมายกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดโอกาสได้มีโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

มีเงื่อนไขว่าต้องมีการเรียนเฉลี่ย 3.00 ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี (ต่อมาปรับเป็น 200,000 บาทต่อปี) ในช่วงแรกกำหนดด้วยว่าต้องเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้รับองค์ความรู้ที่กว้างขวางและไม่ทับซ้อนกับทุนของหน่วยงานอื่น โดยนักเรียนที่ได้ทุนจะได้เรียนปรับภาษาก่อน 1-2 ปี สามารถเรียนในสาขาใดก็ได้ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ประเทศต้องการหรือไม่ก็ตรงตามที่ท้องถิ่นต้องการ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกจากหลายหน่วยงาน และไม่มีเงื่อนไขผูกมัดในการรับทุน ในรุ่นแรกมีผู้สมัครมากถึง 5,298 คน

โครงการนี้ใช้เงินจากโครงการ ‘หวยบนดิน’ จนกระทั่งเกิดการัฐประหารและรัฐบาลถูก คตส.ฟ้องจนต้องยุติโครงการหวยบนดิน รัฐบาลหลังจากนั้นยังคงใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ต่อจนถึงรุ่นที่ 4 และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้เรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ด้วย

สมพงษ์ จิตระดับ จากคุรุศาสตร์ จุฬาฯ เคยทำวิจัยในปี 2558 ระบุว่าแม้ในช่วงต้นโครงการนี้จะถูกโจมตีว่าเป็น ‘ประชานิยม’ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างดี แต่ยังพบช่องโหว่ในช่วงหลัง เช่น การให้ศึกษาในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอาจเพิ่มความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น และการตรวจสอบฐานะของนักเรียนย่อหย่อนเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีโอกาสมากอยู่แล้วได้รับทุน

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า จนถึงปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาแล้ว 4 รุ่น  มีผู้รับทุน รวมทั้งสิ้น 3,093 คน แบ่งเป็นมีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,921 คน (ประกอบอาชีพในองค์กรต่าง ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาครัฐ ธุรกิจส่วนตัว รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์) ไม่สำเร็จการศึกษา จำนวน 161 คน และอยู่ระหว่างการศึกษา รุ่นที่ 4 จำนวน 6 คน ที่จบล่าช้าเพราะติดปัญหาช่วงการระบาดของโควิด19

INFO


สำหรับจุดหมายปลายทางของนักเรียนที่ได้ทุน สรุปได้เบื้องต้นดังนี้

  • ไทย 1,188 คน
  • ญี่ปุ่น 397 คน
  • ฝรั่งเศส 299 คน
  • จีน 239 คน
  • เยอรมนี 205 คน
  • เนเธอร์แลนด์ 176 คน
  • อังกฤษ 143 คน
  • สวิตเซอร์แลนด์ 115 คน
  • อเมริกา 100 คน
  • อิตาลี 64 คน
  • แคนาดา 37 คน
  • ออสเตรเลีย 30 คน
  • อินเดีย 20 คน
  • มาเลเซีย 16 คน
  • สเปน 15 คน
  • นิวซีแลนด์ 13 คน 
  • รัสเซีย 10 คน
  • เดนมาร์ก 7 คน
  • สวีเดน 7 คน
  • ออสเตรีย 4 คน
  • อียิปต์ 2 คน
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรต 1 คน

กลุ่มวิชาเฉพาะที่ไปเรียนรวม 9 กลุ่มวิชาดังนี้

  • 719 คน กลุ่มวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชสมุนไพร แพทย์แผนจีน กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข รังสีแพทย์ กฎหมาย เป็นต้น
  • 632 คน กลุ่มวิทยาศาสตร์ เช่น  วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์การอาหาร ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี การจัดการสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ นิเวศวิทยา เป็นต้น
  • 551 คน กลุ่มวิศวกรรม เช่น วิศวกรรมซอฟท์แวร์ ระบบข้อมูล ไฟฟ้ายานยนต์ ระบบนำร่อง เครื่องกล การบิน อวกาศ รถไฟ พลังงาน เครือข่ายโทรคมนาคม โครงสร้าง ระบบโยธา เป็นต้น
  • 467 คน กลุ่มบริหารจัดการ เช่น บริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การปกครอง รัฐศาสตร์ บริหารจัดการองค์กร การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
  • 319 คน กลุ่มศิลปศาสตร์ เช่น วรรณคดี ศึกษาศาสตร์ สังคมวิทยา สื่อมวลชน ครุศาสตร์ การสอนภาษา (จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย) การโฆษณา เป็นต้น
  • 281 คน กลุ่มพาณิชยกรรม เช่น การบริหาร การโรงแรมและการท่องเที่ยว บริหารธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ การเงิน บัญชีและการธนาคาร เป็นต้น
  • 39 คน กลุ่มเกษตรกรรม เช่น การจัดการระบบเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
  • 34 คน กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ ภูมิสถาปัตยกรรม แฟชั่นดีไซน์ มัลติมีเดียและการสื่อสาร การออกแบบแฟนชั่น ภาพยนตร์ เป็นต้น

งบประมาณที่ใช้เท่าที่สืบค้นได้พบว่า

2547-2553 ใช้งบประมาณ​รวม 4,700 ล้านบาท 

2557-2563 มติครม.เมื่อ 21 ม.ค.2556 กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่ราว 14,000 ล้านบาท