ทรัสส์ขึ้นบริหารประเทศต่อในช่วงเวลาวิกฤต ทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจไปจนถึงสงครามในยูเครน ‘วอยซ์’ ชวนไปทำความรู้จักกับนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ที่ถูกมองว่าเป็น “หญิงเหล็ก” ไม่ต่างอะไรไปจาก มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักร
ลิซ ทรัสส์ หรือชื่อเต็มว่า แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2518 ที่เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทรัสส์เป็นบุตรสาวของ จอห์น เคนเนธ ทรัสส์ อาจารย์สาขาวิชาคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ และ พรีสซีลลา แมรี ทรัสส์ ซึ่งประกอบอาชีพพยาบาล ทรัสส์ใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ในสกอตแลนด์และลีดส์ นอกจากนี้ เธอยังเคยย้ายไปอยู่ที่แคนาดาตามผู้เป็นพ่ออยู่ 1 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว ทรัสส์ตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความสนใจในปัญหาสังคม
ในระหว่างที่ทรัสส์ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เธอได้เข้าร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคอนุรักษนิยมในหลายพื้นที่ของสหราชอาณาจักร ในขณะนั้น ทรัสส์ได้สนับสนุนหลายนโยบายของพรรค เช่น การเปิดเสรีกัญชา ในปี 2537 ทรัสส์ยังได้กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนการยกเลิกระบอบกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เพียง 2 ปีให้หลังจากสุนทรพจน์ดังกล่าว ทรัสส์ก็ได้ย้ายฝั่งจากหน้ามือเป็นหลังมือไปอยู่พรรคอนุรักษนิยม ที่มีนโยบายขัดแย้งกับสังกัดเดิมของเธอมาโดยตลอด โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรัสส์ก็ได้สำเร็จการศึกษาจากอ็อกซ์ฟอร์ด
หลังสำเร็จการศึกษา ทรัสส์เข้าทำงานในบริษัทเชลล์ ในตำแหน่งนักบัญชี ทรัสส์แต่งงานกับ ฮิวจ์ โอเลียรี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในบริษัทเมื่อปี 2543 และในปีเดียวกัน เธอได้ย้ายไปทำงานที่บริษัทเคเบิล แอนด์ ไวร์เลส ซึ่งเธอได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์ที่นั่น
ในฐานะสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม ทรัสส์เคยลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.เขตเฮมสเวิร์ธ ในเวสต์ ยอร์กเชียร์เมื่อปี 2547 และแพ้ให้กับ จอน ทริกเก็ตต์ จากพรรคแรงงานอย่างราบคาบ ต่อมาในปี 2548 ทรัสส์ได้ลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.เขตอีกครั้ง ที่เขตคาลเดอร์ วัลเลย์ ซึ่งอยู่ในเวสต์ ยอร์กเชียร์ เช่นเดียวกัน ก่อนที่ทรัสส์จะแพ้ให้กับตัวแทนจากพรรคแรงงานอีกครั้ง แต่เป็นการแพ้ด้วยคะแนนที่สูสีอย่างมาก
ในช่วงหลังจากที่แพ้การเลือกตั้งติดต่อกัน ทรัสส์ได้ผันตัวไปทำงานในองค์กรรีฟอร์ม ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยฝ่ายขวา ในฐานะรองผู้อำนวยการ โดยที่เธอดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 2551 ในช่วงที่ทรัสส์ผันตัวไปทำงานวิชาการนี้ เธอได้ร่วมเขียนและตีพิมพ์บทความที่สนับสนุนการลดบทบาทของภาครัฐหลายฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอในการลดค่าจ้างของบุคคลากรทางการแพทย์ด้วย
ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ทรัสส์ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในที่สุด โดยในครั้งนี้ ทรัสส์ได้ลงสมัครในเขตเซาท์ เวสต์ นอร์ฟอล์ก ซึ่งถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคอนุรักษนิยม ทรัสส์ก้าวหน้าในอาชีพนักการเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้ โดยในปี 2555 เพียง 2 ปีหลังจากที่เธอได้รับเลือกเป็น ส.ส. ทรัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในปี 2557 เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ก็ได้แต่งตั้งเธอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมด้วย
ระหว่างช่วงก่อนการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท (Brexit) ในปี 2559 นั้น จุดยืนของทรัสส์อยู่ในฝ่ายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ เธอเคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ The Sun ว่า การออกจากสหภาพยุโรปนั้นหมายถึง “โศกนาฏกรรม 3 ประการ ได้แก่ กฎระเบียบที่มากขึ้น แบบฟอร์มที่มากขึ้น และความล่าช้าที่มากขึ้นของขณะทำการค้ากับสหภาพยุโรป” อย่างไรก็ตาม จุดยืนของทรัสส์กลับเปลี่ยนไปในช่วงหลังลงประชามติ โดยเธอหันมาสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปแทน ในประเด็นนี้ ทรัสส์ได้ออกมายอมรับในภายหลังช่วงการเลือกตั้งในปี 2565 ว่า “เธอคิดผิด และเธอพร้อมที่จะยอมรับว่าเธอคิดผิด”
เส้นทางในฐานะนักการเมืองของเธอยังดำเนินต่อไปในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ โดยในปี 2559 เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และในปี 2560 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่หลังจากเมย์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทรัสส์ประกาศจุดยืนสนับสนุนจอห์นสัน แม้เธอจะเคยออกมากล่าวว่าเธอสามารถลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนั้นได้ก็ตาม
ในสมัยของจอห์นสัน ทรัสส์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอพิสูจน์ความแน่วแน่ ต่อจุดยืนในการสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปที่เธอเปลี่ยนอย่างกระทันหัน หลังผลประชามติเมื่อ 3 ปี ก่อนหน้า ซึ่งเธอได้สร้างผลงานสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น ภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายกันกับสมัยที่สหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังมีการเซ็นสนธิสัญญาในลักษณะที่คล้ายกันประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เป็นต้น
ตำแหน่งสุดท้ายของทรัสส์ ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเธอได้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป
ในวันที่ 7 ก.ค. 2565 จอห์นสันประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เปิดทางให้มีการแข่งขันกันภายในพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภา เพื่อหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ซึ่งจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ทรัสส์และสมาชิกพรรคอีกคนหนึ่ง คือ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนักลงทุนในวาณิชธนกิจหลายแห่ง ได้กลายมาเป็น 2 ผู้ท้าชิงที่น่าจับตามองที่สุด ท้ายที่สุดสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมกว่า 160,000 คนทั่วประเทศก็ได้โหวตเลือกทรัสส์เป็นนายกรัฐมนตรี และเธอก็ได้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อช่วงวานนี้ (6 ก.ย.)
มีการคาดการณ์นโยบายในสมัยของทรัสส์ไว้มากมาย ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหราชอาณาจักรอาจมีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซียและสนับสนุนยูเครนมากขึ้น อ้างอิงจากนโยบายต่างประเทศในสมัยจอห์นสัน ที่มีทรัสส์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ปฏิกิริยาจากรัสเซียหลังจากที่ทรัสส์ได้รับตำแหน่งก็มีทิศทางไปในเชิงลบ ทั้งสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ของรัสเซียออกมาให้ความเห็นในเชิงดูถูกถากถางต่อทรัสส์ แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายยูเครนก็ให้การต้อนรับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเต็มที่ โดย โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครนถึงกับออกมากล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครน-สหราชอาณาจักร อยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่เคยมีมา
ส่วนในประเด็นการจัดการด้านการค้า หลังการออกจากสหภาพยุโรปที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือนั้น มีการคาดการณ์ว่าทรัสส์อาจใช้มาตรา 16 ของพิธีสารว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือ ที่จะส่งผลให้สหราชอาณาจักรสามารถยกเลิกบางส่วนของพิธีสาร ที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ (ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) และไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป) ได้
ส่วนนโยบายในประเทศของทรัสส์นั้น จากจุดยืนของเธอที่มีการตอกย้ำมาโดยตลอด เราอาจได้เห็นนโยบายที่ทำการการลดบทบาทของรัฐ และลดภาษีในด้านต่างๆ เช่น ลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม ยกเลิกนโยบายการขึ้นภาษีนิติบุคคล รวมไปถึงมีการระงับอากรสีเขียว หรือค่าใช้จ่ายที่ถูกเพิ่มเข้าไปในค่าพลังงานของประชาชนและจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือกของทรัสส์ กลับให้ความสนใจกับพลังงานนิวเคลียร์และการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน
สหาชอาณาจักรกำลังอยู่ภายใต้ทางแยกที่ท้าทายของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ภัยสงคราม และโรคระบาด การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักรจะนำพามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อการเมืองยุโรปและการเมืองโลก ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ
ที่มา:
https://www.theguardian.com/politics/2022/sep/05/liz-truss-leader-conservative-party-timeline