วันที่ 2 ก.ค. 2566 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 และแคนดิเดทประธานสภา จากพรรคก้าวไกล ขึ้นเวที 'อนาคตประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่' ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมีพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้จัดการการสื่อสารและรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วย โดยระหว่างการบรรยายปดิพัทธ์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสร้างรัฐสภาไทยให้เป็น Open Parliament หรือรัฐสภาที่เปิดเผยโปร่งใส
ปดิพัทธ์ ระบุว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรนิติบัญญัติอย่างรัฐสภาเพื่อให้อำนาจแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนต้องถูกนำมาพิจารณา เพราะที่ผ่านกฎหมายของประชาชนเสียงไม่ดังพอ มักไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ต่างจากกฎหมายที่เสนอโดย ครม.
"ถ้าเราอยากทำการเมืองใหม่ ทำการเมืองดี เราคาดหวังแค่ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ ต้องคาดหวังไปที่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงองค์กรนิติบัญญัติด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการฟอร์มทีม เราเอาจริงเอาจังในการเข้าไปบริหารองค์กรนิติบัญญัติ เรากระตือรือร้นที่จะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะต้องการตักตวงทรัพยากรเข้าตัวเอง แต่เห็นว่าถ้ากระบวนการนิติบัญญัติดีมันจะทำให้ประเทศก้าวหน้าได้"
"ถ้าสภาเป็นที่ตั้งในการผลิตกฎหมายให้กับครม. กฎหมายของประชาชนยากที่จะผ่าน ทั้งที่ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง รอกฎหมายนี้มาหลายสิบปี ส.ส. 20 คน สามารถเสนอกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นคนจากพรรคเล็ก ก็มีสิทธิที่จะเสนอกฎหมายได้ใช่ไหมครับ เพราะประชาชนเลือกเขามา ถ้าพรรคประชาชาติมี ส.ส. 9 ท่าน หาเพิ่มให้ถึง 20 ท่าน ก็ควรจะเสนอกฎหมายที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นสมควรจริงไหม ทำไมเราจะไม่ให้ส.ส. 20 คนเสนอกฎหมายเข้าไปได้ อันนี้คือกระบวนการนิติบัญญัติที่เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง"
แคนดิเดทประธานสภายังย้ำอีกว่ากระบวนการนิติบัญญัติ และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไม่เป็นนั่งร้านหรืออยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล ไม่เกรงใจพรรคการเมืองใด
"ทุกท่านครับ อันนี้เป็นความตั้งใจของเราจริงๆ ที่จะให้สภานิติบัญญัติมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารจริงๆ สภาที่เราเห็นว่ามันล้มเหลว สภาล่ม รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ กฎหมายไม่ผ่าน เพียงเพราะมีการเล่นการเมืองในสภา เราอยากจะเข้าไปกอบกู้ขึ้นมาใหม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าอำนาจของเราอยู่ที่นั่น อำนาจของประชาชนอยู่ที่นั่น การต่อสู้ของเราอยู่ที่นั่นและมีตัวแทนของพวกเราอยู่ที่นั่นจริงๆ ทั้งคนที่ผมเห็นด้วยและผมไม่เห็นด้วย พวกเขามีสิทธิพูด เพราะพวกเขามาจากการเลือกตั้ง มันไม่สำคัญว่าพวกเขาพูดอะไรตรงกับที่ผมคิดหรือเปล่า แต่มันสำคัญกับว่าเขามีความชอบธรรมที่จะพูดในสภา เพราะเขามาจากประชาชน ตรงนี้คือสิ่งที่เราอยากสร้างขึ้นมา"
ปดิพัทธ์ เชื่อว่าหากระบบนิติบัญญัติเข้มแข็ง จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มใบ ถ้าประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา จะทำให้เกิดความหวังทั้งบนท้องถนน ในสภา และในคูหาการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ แคนดิเดทประธานสภาจากพรรคก้าวไกล ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการจัดการพื้นที่อาคารรัฐสภาด้วย โดยระบุว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตนได้เห็นประชาชนหลากหลายอาชีพ เดินทางเข้าไปยื่นหนังสือ ทั้งนักดนตรี ไรเดอร์ ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและโรคระบาด ตนจึงอยากให้ทุกอาชีพเข้าไปใช้บริการได้อยากสะดวกสบาย และถ้าหากเดินทางไปสภาด้วยรถสาธารณะ จะพบว่า ไม่มีเส้นทางให้เดินเข้าไปใช้บริการ เพราะอาคารคิดมาเพื่อให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว และนี่คืออันตรายของการออกแบบที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มีอำนาจ และมีอีกหลายอย่างที่ตนอยากจะทำให้อำนาจของประชาชนยังอยู่ โดยการสร้าง Open Parliament และสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้อยู่ในทุกที่ของชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจอย่างยั่งยืน
"ถ้าผมได้เป็นประธานสภา แล้วประชาชนอยากตรวจสอบงบประมาณของผม ทำได้เลยครับ ผมตั้งใจว่าจะทำให้สภาเป็น Open Parliament ทุกอย่างจะเปิดเผยโดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ ทุกคนก็จะรู้ว่าประธานคนนี้ขับรถประจำตำแหน่งอะไร บินไปดูงานที่ไหนบ้างใช้เงินภาษีไปตัดสูทของตัวเองกี่บาท" ปดิพัทธ์กล่าว