ไม่พบผลการค้นหา
"ธิดา" ย้ำความยุติธรรมขึ้นกับระบบการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจึงจะได้รับความเป็นธรรม ขณะที่แกนนำ นปช.เข้าฟังศาลนัดสืบพยานคดีชุมนุมปี 2552 พร้อมเตรียมหาทางรื้อคดีปี 2553 ตามอดีต ป.ป.ช.ชี้ช่องไว้

ศาลอาญา นัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.จัดชุมนุมไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. , นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. , นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กับพวกรวม 13 คน โดยเเกนนำ นปช.มาศาลพร้อมหน้า

ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดความปั่นป่วน, ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, สร้างความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 

นพ.เหวง กล่าวว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องหลังจากคดีพัทยา ที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกบางส่วนไปแล้ว จึงมีการ ฟื้นคดีในส่วนของแกนนำ นปช. เข้ามาด้วย ส่วนคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2552 อีกคดีหนึ่ง ศาลฎีกาจะตัดสินปลายเดือนนี้ โดยยืนยันว่า แกนนำ นปช.ไม่มีความกังวลอะไร พร้อมน้อมรับคำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่

สำหรับคดีที่ฝ่ายแกนนำ นปช. และประชาชน เป็นโจทก์หรือผู้เสียหายเมื่อปี 2553 นั้น แกนนำ นปช.กำลังพิจารณาอีกแนวทางหนึ่งตามที่นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาระบุผ่่านสำนักพิมพ์มติชนว่า การรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 2553 อาจใช้กระบวนการตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตามมาตรา 275 ในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยผู้เสียหายยื่นไปที่ศาลฎีกา เมื่อได้ข้อเท็จจริง จะนำสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช.เดินทางมาฟังการพิจารณาด้วย กล่าวว่าในส่วนคดีปี 2552 ของแกนนำอาจแยกเป็น 2 คดี คือ คดีพัทยากับคดีที่กรุงเทพฯ หรืออาจจะรวมกันเป็นคดีเดียวก็ได้ พร้อมยอมรับว่า การที่แกนนำ นปช. ถูกรื้อคดีหรือฟ้องเพิ่มระยะหลัง ขณะที่คดีที่ตกเป็นเหยื่อในปี 2553 ไม่คืบหน้า ส่งผลต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีปี 2553 และสะท้อนความเป็นจริงของความยุติธรรมในสังคมไทยที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย 

นางธิดา ยืนยันว่า ความยุติธรรมในสังคมขึ้นกับระบอบการเมือง ดังนั้น ความยุติธรรมของฝ่ายที่ต้องการให้อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน จึงต่างและตรงข้ามกับของชนชั้นนำที่ไม่ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน เหมือนกับในสมัยโบราณ ที่ขุนนางและนายทาส ลงโทษไพร่ทาสด้วยความทารุณ ก็ถือเป็นความยุติธรรม แต่ในประชาธิปไตยความยุติธรรมก็จะเป็นอีกแบบนึง 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สังคมไทยรอความยุติธรรมจากสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ แม้ใช้เวลายาวนาน อย่างในต่างประเทศกว่าจะนำผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษได้ใช้เวลาหลายสิบปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :