นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยายนยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปี 2562 แม้จะมีปรับลดเป้าหมายยอดขายรถยนต์ในประเทศ ลง 50,000 คัน เป็นผลิตเพื่อขายในประเทศ 1 ล้านคัน และปรับลดยอดส่งออกลง 100,000 คัน จากเดิมกว่า 2.1 ล้านคัน ส่งผลให้เป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ลดลง 150,000 คัน เหลือผลิต 2 ล้านคัน หรือ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.74 เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และจีนทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ในประเทศ ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
จากปัจจัยข้างต้นจะไม่ส่งผลต่อการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน โดยขณะนี้ตัวเลขแรงงานในกลุ่มอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ทั้งการผลิต ชิ้นส่วน ขายปลีก รวมถึงฝ่ายช่างที่มีอยู่ในระบบประมาณ 7 แสนอัตรา ยังไม่ได้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่ยอมรับว่าในภาคอุตสาหกรรมฯได้มีการปรับลดลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (OT) ลงบ้าง
อย่างไรก็ตามสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปี 2562 ที่เกิดขึ้น ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งในช่วง 4 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2562 ได้มีการปรับลดยอดการผลิตรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ลงร้อยละ 5.8
โตโยต้า ไร้แผนปรับลดพนักงาน
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทโตโยต้า ยืนยันว่ายังไม่ได้มีแผนปรับลดพนักงาน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกตลาดยอดขายในประเทศของโตโยต้ายังคงเติบโตได้ดี และกำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60 ยังต้องพึ่งพาแรงงานอยู่ แต่ยอมรับว่าทางบริษัทฯได้มีการปรับลดโอทีลงจากเดิมที่เฉลี่ยแรงงานจะได้รับโอที 2.5 ชั่วโมงต่อวันทยอยลดลงมาเหลืออยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็ไปเป็นตามยอดขายและยอดส่งออกที่ลดลงด้วยจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเปิดให้พนักงานยื่นสมัครใจลาออกก่อนเกษียณ ยอมรับว่ามีพนักงานบางส่วนสมัครใจเข้าร่วม ซึ่งบริษัทฯก็ได้จัดสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ทั้งนี้ยังเพิ่มการจ้างแรงงานในประเภทสัญญาจ้าง หรือ ซัพคอนแทร็ก เพื่อรองรับงานในช่วงที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น