ไม่พบผลการค้นหา
'สุริยะ' เผยไฮสปีดเทรนไทย-จีน เฟส 2 'โคราช-หนองคาย' ลั่น! 'ไทย' คุมงานเองทั้งหมด ใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100% ยันมาตรฐานสากล สั่ง รฟท. - ขร. เข้มงวดมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ด้าน 'ผู้ว่าการรถไฟฯ' ชี้เฟส 1 'กรุงเทพ - โคราช' โครงสร้างแข็งแรง ใช้เหล็ก 'ทาทา สตีล' คาดผลสอบเหล็ก สรุปภายใน 2 วัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 32 เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 - 3 เดือน จากนั้นจะเริ่มกระบวนการประกวดราคา และก่อสร้างภายในปี 2568 เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ สปป.ลาว และจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค สำหรับการประกวดราคา ระยะที่ 2 นั้น จะไม่ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) จะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย โดยยืนยันว่า เป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ฝ่ายไทยจะควบคุมงานการก่อสร้างเอง รวมถึงออกแบบ และตรวจแบบเองทั้งหมด พร้อมทั้งจะใช้วัสดุภายในประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในความสามารถของวิศวกรของไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และฝ่ายจีนยอมรับได้ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ รฟท. และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กำกับติดตามอย่างเข้มงวดให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย

ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และมีเหตุอาคารถล่ม ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งระบบ โดยเฉพาะงานโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท. ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว โดยจะนำบทเรียนต่าง ๆ มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มเติม

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะกำหนดให้ใช้วัสดุในประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเรื่องการทดสอบวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะต้องมีการตรวจรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ กล่าวคือ อาทิ การตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต อีกทั้งก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทย คือ ต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด ขณะเดียวกัน เมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้าง จะต้องมีการเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด ขณะที่ ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก เมื่อผ่านมาตรฐานแล้ว จึงจะทำการเทคอนกรีต

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 ทั้งนี้ ยืนยันว่า ดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ขณะที่โครงสร้างเหล็กต่าง ๆ มีมาตรฐานตามระดับสากล และได้รับรายงานว่าโครงการนี้ใช้เหล็กของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ทำการออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ขณะที่การตรวจสอบสัญญา 3 - 1 ช่วงแก่งคอย - กลางดง และปางอโศก - บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,348 ล้านบาท มีผู้รับจ้างเป็น บจ. กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็ก รวมถึงวิศวกรทีมีความเชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบแล้ว คาดว่าจะทราบผลภายใน 2 วัน