ไม่พบผลการค้นหา
มหากาพย์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของชายผู้เคราะห์ร้าย เมื่อเขาตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยเงื้อมมือผู้รักษากฎหมาย ผ่านการซ้อมทรมานหวังให้สารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์

บนเส้นทาง 12 ปี การเรียกร้องในกระบวนการยุติธรรมของครอบครัว “ชื่นจิตร” ถูกผลึกกลั่นกรองผ่านงานเขียนสารคดี “เมื่อผมถูกทรมาน…ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” ในห้วงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …ที่ยังไม่บรรลุผล

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือเพื่อถอดบทเรียนสะท้อนเสียงผ่านบาดแผลของความอยุติธรรม โดยมีนักวิชาการ ภาคประชาชน และครอบครัว ร่วมชำแหละวงการสีกากีด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

'สมศักดิ์ ชื่นจิตร' บิดา 'ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร' ผู้ถูกตำรวจซ้อมทรมาน เปิดเผยบันทึกการต่อสู้ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2552 ในปีเกิดเหตุลูกชายเขาถูกควบคุมไปทรมาน โดยการใช้ถุงดำคลุมหัว ขณะนั้นเขาไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้เลย ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

เพราะผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่ละเมิดและริดรอนลมหายใจของลูกชาย มันคือความเจ็บปวดของคนที่เป็นพ่อ ซึ่งผลพวงวันนั้นทำให้ลูกชายตนต้องเผชิญกับโรคจิตเวช 

รูปจากกล้องพี่_210601_7.JPG

"ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราไม่ได้กระทำผิด แล้วเราไม่เคยตั้งตัวในการรับมรสุมครั้งนี้ มันเหมือนพายุร้ายพัดเข้ามาในครอบครัวของเรา เราต่อสู้ตั้งแต่ปี 2552-2558 ได้เรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม รวม 54 หน่วยงาน สิ่งที่ได้กลับมาคือคำว่า รออยู่ระหว่างดำเนินการ" บิดาผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรม กล่าว


ปฐมบทแห่งการคุกคาม

เคราะห์ซ้ำของ 'สมศักดิ์ ชื่นจิตร' ในระหว่างการต่อสู้คดี เขาถูกหน่วยงานแห่งหนึ่งส่งรายชื่อไปบำบัดยาเสพติด แม้ในชีวิตนี้เขาไม่เคยยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด เขามองว่านี่คือปฐมบทแห่งการคุกคาม ก่อนเล่าต่อว่า "ผมเคยไปหาผู้การกองปราบ ก็คือ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.พรรคก้าวไกล (อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม) วันนั้นผมไปลงบันทึกประจำวันว่า หากผมถูกฆ่าตายที่กองปราบ ก็ขอให้รู้ว่าผมกับลูกชายไม่มีเรื่องราวใดเลย นอกจากเรื่องเอาผิดตำรวจที่ซ้อมทรมานลูกชาย"

ท่ามกลางความสิ้นหวังในการหาความเป็นธรรม "มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" ได้ส่องแสงสว่างให้ 'สมศักดิ์ ชื่นจิตร' อีกครั้ง ด้วยการเสนอแนวทางด้านคดี และเป็นแรงผลักให้เขาไม่ยอมจำนน นำไปสู่การต่อสู้มาตลอด 12 ปี 

"เราฟ้องตำรวจทั้งหมด 7 นาย ที่นำตัวลูกชายไปหาของกลาง แต่เขาไม่ได้เอาของไป ขณะนั้นเขาถูกคลุมถุงดำในห้องเชือด ถ้าไม่ยอมรับสารภาพเขาก็มีจุดจบไม่ต่างจากคดีอดีตผู้กำกับโจ้ เขาต้องดิ้นรนด้วยการกัดถุงเพื่อหาอากาศหายใจ แต่ตำรวจพวกนั้นก็สวมถุงดำทับไปรวม 4 ชั้น สุดท้ายเขาต้องยอมรับสารภาพ"

Image.aspx.jpg
  • 'สมศักดิ์ ชื่นจิตร'-'ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร'

ผลพวงการลุกขึ้นท้าทายผู้มีอำนาจ ยังผลให้เขาถูกฟ้องกลับด้วยคดีอาญาจากผู้ทำร้ายลูกชาย "รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าคนที่เอาถุงมาครอบหัวลูกเรา มันมีเจตนาฆ่าอยู่แล้ว แต่ความผิดของเขาแค่รอลงอาญา ปรับ 8,000 บาท แต่ลูกชายผมกลับถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก 5 ปี แม้จะรอลงอาญา แต่ก็ถูกโทษปรับอีก 100,000 บาท"


เร่งผลักดันกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม พูดถึงประเด็นการสืบสวนสอบสวนที่เกิดเหตุตำรวจซ้อมทรมานนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีนโยบายในเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยความป่าเถื่อน แม้ว่าจะมีการออกมารับผิดชอบในภายหลังก็ตาม ดังนั้นการกระทำเช่นนี้ถือเป็นตำรวจนอกรีต 

สุพิศาล ภักดีนฤนาถ
  • อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม

อย่างไรก็ดีในการผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายในสภาฯ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างสนับสนุนร่วมกัน และเร่งรัดกระบวนการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง และถือเป็นการยกระดับกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำที่เหี้ยมโหด เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในสังคม และอยู่ในแนวทางการปฏิรูปตำรวจเช่นเดียวกัน 

"เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายๆคน ที่อยู่ในกระบวนการสอบสวน ต้องสำนึกว่าการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ดังนั้นการออกกฎหมายเพื่อกำจัดบุคคลที่ละเมิดสิทธิ ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง" อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าว 


สังเวยตราบาป

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ ผู้ร้อยเรียงหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน…ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” เผยความรู้สึกว่า หลังจากพูดคุยกับพ่อของเหยื่อ เธอได้เห็นภาพความยากลำบากของการเผชิญหน้ากับตำรวจ เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งการถูกคุกคามระหว่างการฟ้องร้อง ผ่านการเจรจาและต่อรอง ซึ่งต้องขอบคุณกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งที่มอบความเป็นธรรมให้ครอบครัวผู้บริสุทธิ์ 

รูปจากกล้องพี่_210601_4.JPG

เธอยังมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นมันคือการสังเวยความมักง่าย ที่ตร.หวังเร่งปิดจบคดี โดยการนำผู้ต้องหามารับเคราะห์ให้ได้เร็วที่สุด "ความซวยจึงบังเกิดกับฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ที่อาจมีบุคลิคคล้ายกับผู้ก่อเหตุ เขาจึงกลายเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำโดยไร้ความเป็นมนุษย์

"หนังสือเล่มนี้เราต้องการเสนอกลยุทธ์ในการดำเนินคดี และทำให้เห็นภาพใหญ่ว่าการต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราจะเห็นความพยายามขององคาพยพราชการไทยที่อุปถัมภ์ร่วมกัน ปกปักษ์รักษาไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้กระทำความผิด"


ทลายอำนาจรวมศูนย์ 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่ากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นครอบครัว “ชื่นจิตร” คือปฏิบัติการที่ถูกเตรียมการโดยทีมเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านสถานที่ผู้คนเข้าไม่ถึง อาทิ โรงพักหรือที่อยู่ของทหาร ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องให้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายโดยเร็ว 

นอกจากนี้ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังเสนอแนวทางในการการปฏิรูปตำรวจ 1.ต้องกระจายอำนาจตำรวจไปยังหน่วยงานที่จำเป็น เพื่อให้การใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.แยกระบบการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3.พนักงานอัยการสามารถตรวจสอบควบคุมและส่งผลคดีได้ 4.การสอบสวนต้องมีระบบบันทึกภาพ 5.ยุบการรวมศูนย์ 6.กระจายอำนาจตำรวจท้องที่ 7.การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต้องโปร่งใส 8.การเปรียบเทียบปรับต้องเป็นอำนาจของตุลาการ


แรงกดดันปฏิกิริยานอกสภา

ส่วนความเคลื่อนไหวของฟากฝั่งรัฐสภา 'ณัฐวุฒิ บัวประทุม' ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ถึงเป้าหมายในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ทั้งทางแพ่งและอาญานั้น ยังไม่สามารถนำผู้ก่อเหตุอุ้มหายซึ่งมักเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ผู้เสียหายเข้าถึงพยานหลักฐานลำบาก จึงเป็นที่มาของการผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่รัฐผู้ลุแก่อำนาจ

122463498_3411599282220667_4939578126948585102_n.jpg
  • ทีมกฎหมายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

"มันมีสุภาษิตทางกฎหมาย บอกว่าจะต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัย เพื่อจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ถ้าเราไม่ได้ตัวผู้เสียหายหรือไม่เจอศพ การจะลงโทษใครเลยการเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการเอาผิดผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย" ส.ส.ก้าวไกล กล่าว

สำหรับเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายมีอยู่ 4 ฉบับ แบ่งเป็น 1.พรรคก้าวไกล 2.พรรคประชาชาติ 3.พรรคประชาธิปัตย์ 4.รัฐบาล ทั้งหมดนี้หลักการและเหตุผลคล้ายคลึงกัน ในการป้องปรามและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้เข้าไปเกี่ยวข้อง และตอบคำถามในสายตาของนานาอารยะประเทศ ด้วยการนิยามคำว่า 'การทรมาน' หรือ 'บังคับสูญหาย' ที่ครอบคลุมไปถึงการข่มขู่คุกคามโดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล

แต่ยังมีข้อเห็นต่างของพรรคการเมืองและคณะรัฐมนตรี ในส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เนื่องจาก ส.ส.เสนอให้ภาคประชาชนหรือครอบครัวเหยื่อเข้ามามีบทบาท ส่วนทางภาครัฐเน้นไปที่กรรมการโดยตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามส่วนตัวเขามั่นใจว่าในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการจะผ่านการพิจารณาในวันที่ 18 ก.ย.นี้