ไม่พบผลการค้นหา
ประธานาธิบดี 'เอโบ โมราเลส' ผู้นำโบลิเวียที่อยู่ในตำแหน่งนานเกือบ 14 ปี ถูกทหาร-ฝ่ายค้านโจมตี 'ละเมิดรัฐธรรมนูญ' นำสู่ประท้วงใหญ่ จนต้องลี้ภัยไป 'เม็กซิโก' พร้อมเรียกร้องผู้สนับสนุนที่ยังอยู่ในประเทศสู้ 'อำนาจมืด'

'เอโบ โมราเลส' อดีตเกษตรกรผู้ปลูกต้นโคคาและประธานาธิบดีเชื้อสายชนพื้นเมืองคนแรกของโบลิเวีย ประกาศลาออกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. หลังถูกพลเอกวิลเลียมส์ กาลิมัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบกรณีที่มีการชุมนุมต่อต้านผลการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือน ต.ค.ถึงวันที่ 9 พ.ย. เพราะผู้ชุมนุมไม่พอใจที่โมราเลสลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ซึ่งแม้ว่าเขาจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เข้าข่าย 'ละเมิดรัฐธรรมนูญ' ซึ่งมีเงื่อนไขห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าเวลาที่กำหนด

การชุมนุมต่อต้านโมราเลสทวีความรุนแรงขึ้น เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ พล.อ.กาลิมัน แถลงกดดันผ่านสื่อในประเทศให้โมราเลสลาออก

และโมราเลสระบุว่า วิธีการดังกล่าวไม่ต่างจากการรัฐประหาร แต่ก็ยอมลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำให้ 'ชานีน อัญเนส' รองประธานวุฒิสภา รักษาการแทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ช่วงค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พ.ย.ช่วงสาย เวลาไทย โมราเลสได้เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ @evoespueblo ยืนยันว่าเขาได้ลี้ภัยมายังประเทศเม็กซิโกแล้ว แต่เชื่อมั่นว่าอีกไม่นานจะได้กลับไปยังโบลิเวีย 'อย่างเข้มแข็งและมีพลังกว่าเดิม' พร้อมเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของตนเองที่ยังอยู่ในประเทศต่อสู้ 'อำนาจมืด' ซึ่งสื่อต่างชาติระบุว่า หมายถึงกองทัพ และ 'การ์ลอส เมซา' อดีต ปธน.ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน รวมถึง 'ลุยส์ เฟร์นันโด กามาโช' นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล

โมราเลสได้เผยแพร่ภาพถ่ายลงในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว เป็นภาพที่เขานอนอยู่บนพื้นในอาคารหลังหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยพิกัดที่ชัดเจน แต่ระบุว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยในเม็กซิโก เพื่อยืนยันว่าการลี้ภัยดำเนินไปด้วยดี หลังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเม็กซิโก 

AFP-เอโบ โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวีย ทวีตภาพขณะลี้ภัยไปยังเม็กซิโก.jpg
  • ภาพจากบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของเอโบ โมราเลส บรรยายถึง 'คืนแรกในเม็กซิโก'

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกได้ออกแถลงการณ์ยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยของโมราเลส ทั้งยังเผยแพร่ภาพขณะโมราเลสอยู่บนเครื่องบินลำหนึ่งพร้อมกับธงชาติเม็กซิโก และยืนยันว่าทางการเม็กซิโกให้ที่พักพิงแก่อดีตผู้นำโบลิเวียเพราะตระหนักว่า 'ชีวิตและบูรณภาพ' ของโมราเลสกำลังตกอยู่ในอันตราย 


ชนวนเหตุ 'โกงเลือกตั้ง' หยุดนับคะแนน 24 ชม. ก่อนโผล่มาชนะ

หลังจากโมราเลสประกาศลาออกจากตำแหน่ง กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านในโบลิเวียก็เดินขบวนเฉลิมฉลองในหลายเมือง พร้อมระบุว่านี่เป็นชัยชนะของกลุ่มผู้ประท้วง และบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงตามที่องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายแห่งสรุปผล

ทั้งนี้ องค์กรรัฐอเมริกัน (OAS) ซึ่งส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งโบลิเวียเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าพบเห็น 'การแทรกแซงการเลือกตั้ง' และเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ หลังผลนับคะแนนบ่งชี้ว่าโมราเลสชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 47.08 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ใช้สิทธิออกเสียงทั้งหมด ขณะที่ 'การ์ลอส เมซา' อดีตประธานาธิบดี คู่แข่งคนสำคัญของโมราเลส มีคะแนน 36.51 เปอร์เซ็นต์ 

เหตุผลที่ทำให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งสรุปว่ามีการแทรกแซงเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากที่อยู่ในเขตชนบท และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ฐานเสียงของโมราเลส หยุดส่งข้อมูลการนับผลคะแนนตามเวลาจริงให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลางอย่างกะทันหัน และหายเงียบไปนาน 24 ชั่วโมงจึงส่งผลคะแนนให้แก่ส่วนกลาง และผลคะแนนรวมของโมราเลสห่างจากคู่แข่ง 10 เปอร์เซ็นต์พอดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่กฎหมายเลือกตั้งโบลิเวียระบุว่าจะเป็นคะแนนชี้ขาดให้แก่ผู้ชนะเลือกตั้ง

กลุ่มผู้สนับสนุนคู่แข่งของโมราเลสไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเสนอขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมถึงข้อเสนอของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้นับคะแนนใหม่อีกครั้ง เพราะผู้คัดค้านต้องการให้โมราเลสลาออกและให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

AFP-ผู้สนับสนุนอดีต ปธน.เอโบ โมราเลส ผู้นำโบลิเวีย ประท้วงในกรุงลาปาซ.jpg
  • การประท้วงต่อต้านรัฐบาลโมราเลสดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 21 ต.ค.จนถึงต้นเดือน พ.ย.

อดีต ประธานาธิบดีการ์ลอส เมซา คู่แข่งของโมราเลส เป็นแกนนำเดินขบวนต่อต้านผลการเลือกตั้ง และมีการชุมนุมต่อเนื่องหลายสัปดาห์ในหลายเมือง นำไปสู่การปะทะกันรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้ประท้วงจึงขีดเส้นตายให้โมราเลสลาออกภายใน 48 ชั่วโมงเมื่อ 9 พ.ย. ประกอบกับ ผบ.สส. ได้ออกมาแถลงกดดันอีกแรงหนึ่ง โดยย้ำว่าโมราเลสจะต้องเห็นแก่ความสงบสันติของประเทศชาติ ทำให้โมราเลสยอมประกาศลาออกและลี้ภัยออกนอกประเทศ


ข้อหาก่อนหน้านี้ - 'แทรกแซงเลือกตั้ง' 'แทรกแซงกระบวนการศาล'

เมื่อโมราเลสประกาศลาออก กลุ่มผู้สนับสนุนโมราเลสจำนวนมากได้รวมตัวกันที่กรุงลาปาซ เมืองหลวงของโบลิเวีย และเมืองเอลอัลโต ประณามการแทรกแซงของกองทัพและแกนนำฝ่ายค้าน โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเปรียบได้กับการฃรัฐประหาร แต่ฝ่ายต้านโมราเลสมองว่าอดีตผู้นำเป็นฝ่ายยื้ออำนาจและละเมิดรัฐธรรมนูญก่อน เพราะโมราเลสอยู่ในตำแหน่งมานานเกือบ 14 ปีแล้ว

สิ่งที่ผู้ชุมนุมต่อต้านโมราเลสระบุว่าเป็นชนวนเหตุสำคัญนอกเหนือจากการแทรกแซงผลเลือกตั้ง เกิดจากการจัดลงประชามติเมื่อปี 2016 ซึ่งรัฐบาลโมราเลสอ้างว่าจัดขึ้นเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่หากจะมีการปรับแก้กฎหมาย อนุญาตให้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีลงสมัครรับเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งได้อีกอย่างน้อย 2 สมัยติดต่อกัน

ผลการหยั่งเสียงระบุว่า ผู้คัดค้านข้อเสนอมีจำนวนมากกว่าผู้สนับสนุนแบบเฉียดฉิว ทำให้โมราเลสยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเข้าข้างโมราเลส โดยระบุว่าการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งไม่เข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเรือน เปิดทางให้โมราเลสสามารถลงสนามเลือกตั้งในปี 2019 ได้อีกครั้ง แม้ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งมานาน 3 สมัยแล้ว

จากกรณีดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ต่อต้านมองว่าโมราเลสใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และยังชี้ด้วยว่าคณะผู้พิพากษาที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีประชามติเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลโมราเลสเกือบทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าโมราเลสใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงศาล


จากเกษตรกรไร่โคคา สู่ผู้นำสายสังคมนิยม และ 'ผู้ลี้ภัย'

โมราเลสได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียสมัยแรกเมื่อปี 2006 ทั้งยังเป็นเกษตรกรไร่โคคามานาน 38 ปี ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งประธานสหภาพเกษตรกรไร่โคคาแห่งโบลิเวีย ทำให้เขามีภาพลักษณ์ที่ติดดินและเข้าถึงผู้คนยากจนและชนพื้นเมืองที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ช่วงที่โมราเลสดำรงตำแหน่ง 2 สมัยแรก เขาได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะหนุนนโยบายสังคมนิยม ส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม โครงสร้างพื้นฐาน และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประชาชนกลุ่มฐานราก ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นเกษตรกร ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และแม้รัฐบาลโมราเลสจะวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศจักรวรรดินิยมอยู่บ่อยครั้ง แต่เขาก็ไม่ได้ใช้นโยบายอย่างแข็งกร้าวหรือใช้แนวคิดชาตินิยมแปรรูปกิจการเอกชนแบบสุดโต่งเหมือนประเทศอื่นๆ ในแถบละตินอเมริกา

AFP-เอโบ โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวีย ลี้ภัยไปยังเม็กซิโก ถือธงเม็กซิกัน.jpg
  • กระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกเผยแพร่ภาพเอโบ โมราเลส ขณะถือธงเม็กซิโกบนเครื่องบินลำหนึ่ง

ความนิยมของรัฐบาลโมราเลสเริ่มเสื่อมถอยลงหลังจากอดีตหญิงคนสนิทของเขาถูกกล่าวหาว่าใช้ความสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาลเอื้อประโยชน์และรับสินบนจากบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในโบลิเวีย และการสอบสวนปรากฏว่าหญิงคนดังกล่าวถูกดำเนินคดีเพียงลำพัง ไม่มีการนำตัวผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลไปสอบสวน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสของกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง

เมื่อเกิดกรณีแทรกแซงกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้กลุ่มผู้ไม่พอใจโมราเลสเพิ่มจำนวนมากขึ้น นำไปสู่การเดินขบวนกดดันบนท้องถนน จนกระทั่งกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่โมราเลสและกลุ่มประชาชนฐานรากที่สนับสนุนรัฐบาลของเขามองว่า กลุ่มผู้ต่อต้านเกี่ยวโยงกับเครือข่ายอำนาจเก่า พาดพิงอดีต ปธน.การ์ลอส เมซา ผู้เคยดำรงตำแหน่งในปี 2003-2005 แต่ถูกกล่าวหาว่ายอมลงให้กับกลุ่มทุนจากสหรัฐฯ มากเกินไป และใช้เงินกองทุนสำรองพลังงานเชื้อเพลิงอย่างไม่ถูกต้อง

ส่วนรัฐบาลหลายประเทศในละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ต่างแสดงความเห็นต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพโบลิเวีย โดยระบุว่านี่เป็นการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่ง พร้อมประกาศสนับสนุนโมราเลส

อย่างไรก็ตาม โบลิเวียเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคนี้ที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองนอกเหนือจากชิลีและเอกวาดอร์ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวต่อต้านความเหลื่อมล้ำในประเทศต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้ว

ที่มา: Aljazeera/ AP/ BBC/ The Guardian/ New York Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: