ไม่พบผลการค้นหา
ล่มรอบที่27 จนได้! สภาฯ สุดยื้อถก พ.ร.บ.กัญชา ไกลถึงมาตรา 7 'ปชป.' ดักคอแก้มาตรา 4 หวั่นเปิดช่องปลูกบ้านละ 15 ต้น ใช้สันทนาการ 'จิรายุ' บ่นองค์ประชุมน้อยจนวังเวง ก่อนท้ายสุดสภาล่ม

วันที่ 21 ธ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในวาระที่ 2 ซึ่งต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากที่ประชุมลงมติตัดมาตรา 3 กำหนดว่า กัญชา กัญชง ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดออกไป โดยได้เลื่อนการลงมติมาในวันนี้ หลังการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง

จนเข้าสู่การอภิปราย มาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดคำนิยามในความหมายของคำต่างๆ ซึ่ง กรรมาธิการ ได้แก้ไขเนื้อหา โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ คำนิยามของคำว่า ผลิต ที่ได้ตัดคำว่า เพาะ ปลูก สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ออกจากคำนิยาม ทำให้เหลือเพียง การทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ สกัด เปลี่ยนรูป รวมถึงการแบ่งบรรจุ และรวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือ ประกอบอาหาร และเพื่อใช้ประโยชน์จากราก ลำต้น หรือ เส้นใย 

ทั้งได้เพิ่มคำว่า สื่อสารการตลาด ที่ให้หมายรวมถึง การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างข่าว เผยแพร่ข่าวสาร ส่งเสริมการขาย การแสดง หรือการส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคล เป็นการเฉพาะ หรือการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อขายสินค้า บริการหรือสร้างภาพลักษณ์

ทำให้ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงข้อกังวล เนื่องจากไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเจาะจงให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น หรือเปิดช่องให้ใช้อย่างนันทนาการเสรีหรือไม่ 

ในส่วนคำนิยามเรื่องประโยชน์ในครัวเรือน ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรา 18 ที่ให้ประชาชนสามารถปลูกได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน คำถามคือประโยชน์ในครัวเรือนคืออะไร โดยในร่าง พ.ร.บ.ได้นิยามไว้ว่า การบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และบุคคลในครอบครัวที่อาศัยอยู่ อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้แบบนันทนาการได้

หมายความว่า การบริโภคส่วนบุคคลเป็นการตัดสินใจของตัวบุคคลเอง ขณะที่การใช้กัญชาทางการแพทย์ก็ควรเป็นความเห็นของแพทย์ว่าควรใช้หรือไม่ การใช้ถ้อยคำในนิยามเช่นนี้จึงมีความหละหลวม และเปิดช่องประชาชนที่ปลูกครัวเรือนละไม่เกิน 15 ต้น ให้สามารถใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งอาจไม่ใช่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาเกี่ยวข้อง


ปานเทพ พรบ กัญชา ประชุมสภา -4D30-43D3-AE5A-84CC6569862A.jpeg

ด้าน ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะกรรมาธิการ ได้ชี้แจงว่า หากมีการพิจารณาอย่างละเอียดจนจบทุกมาตราจะพบว่าแท้จริงแล้วมีการแยกเรื่องของการจดแจ้งกับการขออนุญาตกัญชาเป็น 2 ส่วน โดยการจดแจ้งก็คือการปลูกในครัวเรือน ซึ่งก็คือไม่เกิน 15 ต้น นี่คือการปลูกเองใช้เองในครัวเรือนและห้ามมีการขาย ส่วนกรณีการปลูกพืชในการทำธุรกิจต้องมีการขออนุญาตอย่างชัดเจน เรื่องนี้เป็นการพูดซ้ำกันหลายครั้งโดยยืนยันว่าไม่ใช่ในเรื่องของการสนับสนุน ส่วนการใช้ประโยชน์ในระดับประชาชนนั้นก็ควรมีทุกกลุ่มทุกภาคอย่างพอเหมาะพอควร และไม่ได้ละเลยในการดูแลประชาชน 

ส่วนกรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลังมีการประกาศใช้ควบคุมการใช้กัญชา ผู้ต้องขังที่มีคดีถึงที่สุดก็ได้มีการปล่อยตัว โดยมีเหตุผลว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้วดังนั้นการอภิปรายใหม่อีกครั้งเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ส่วนกรณีที่ยังอยู่ในรายละเอียดกฎหมายยาเสพติดนั้นก็คือสารสกัดที่มีค่า THC เกิน 0.2% 

สำหรับประเด็นเรื่องที่ถามว่าเหตุใดถึงมีการตัดมาตรา 3 ออกไปนั้น ขณะที่มีการร่างมาตราดังกล่าวก็มีความห่วง หากกระทรวงสาธารณสุข กลับไปใช้ว่ากัญชาเป็นยาเสพติด อย่างน้อยผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาอยู่หรือผู้ที่ปลูกกัญชาตามครัวเรือนอยู่ก็ต้องไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งการตัดในประเด็นดังกล่าวออกไปก็ยังถือว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เพราะความเป็นยาเสพติดนั้นก็คือการใช้สารสกัด

‘จิรายุ’ชงพักประชุมสมาชิกบางตา

ในช่วงหนึ่ง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ขอหารือ พร้อมเสนอว่าให้พักการประชุมสัก 1 ชั่วโมง เพราะสมาชิกเริ่มบางตา โดยเฉพาะในฝั่งรัฐบาล ให้ระดมเสียงมาให้ได้ก่อน เพราะฝ่ายค้านซึ่งเป็นองค์ประชุมหลัก เริ่มรู้สึกวังเวง

ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมในขณะนั้น กล่าวว่า อย่าวังเวง ยังมีเรื่องให้วังเวงมากกว่านี้ พร้อมขอบคุณสมาชิกที่ช่วยกันทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไข ในมาตรา 4-5 และเห็นชอบให้ตัดมาตรา 6-7 ออก พร้อมเห็นชอบให้เพิ่มมาตรา 7/1 ถึง 7/3 ที่คณะกรรมาธิการขึ้นใหม่ จนกระทั่งพิจารณาถึงมาตรา 7/4 ว่าด้วยเศรษฐกิจจากกัญชา กัญชง 

ระหว่างการรอสมาชิกเข้ามาเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้เน้นย้ำว่าการแสดงตนครั้งนี้ขอให้ลงหลักฐานการแสดงตนไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าได้มาเป็นองค์ประชุมจริงหรือไม่

แต่ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวว่า ประธานไม่จำเป็นต้องพูดมาก ยิ่งพูดมากจะยิ่งดูแย่ เราทุกคนต่างก็รู้ว่าระเบียบข้อบังคับการประชุมเป็นอย่างไร สมาชิกแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะเข้าหรือไม่เข้าร่วมการประชุม อย่าโทษคนอื่นเลย

ศุภชัย จึงตอบว่า ไม่ได้ว่ากล่าวใคร แต่เพียงเน้นย้ำไว้เพราะกลัวว่าจะมีสมาชิกรู้สึกวังเวงในห้องประชุมอีก จากนั้นจึงได้ให้แสดงผลการรับองค์ประชุม ปรากฏว่าสมาชิกในห้องประชุมขณะนั้น มีจำนวน 214 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด ตามข้อบังคับ ทำให้ประธานฯ ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17:21 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอด 4 ปี สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ถูกบันทึกไว้จนถึงปัจจุบันมีองค์ประชุมที่ล่มซ้ำซากบ่อยครั้ง ซึ่งสภาฯองค์ประชุมล่มล่าสุดในวันเดียวกันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 27 โดยก่อนหน้านี้สภาล่มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ขณะที่ประชุมกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระที่สอง โดยคณะกรรมาธิการฯ ขอลงมติในมาตรา 9/1 ใหม่อีกครั้ง หลังแพ้คะแนนเสียงให้คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งเสนอให้มีการลงมติหลังเข้าชื่อว่าควรถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือไม่