ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์หมอกควันที่ยะลา เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ล่าสุดเช้านี้ (24 ก.ย.) วัดค่า PM 2.5 มีค่าสูงถึง 82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และควรสวมหน้ากากอนามัย N95

สถานการณ์หมอกควันที่เข้าปกคลุมทั่วพื้นที่เมืองยะลาเมื่อวานนี้ (23ก.ย.) มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานอยู่ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (g/m3) ล่าสุดสภาพอากาศเช้าวันนี้ (24 ก.ย.) ในพื้นที่เขตเมืองยะลายังคงพบกลุ่มควันไฟป่าปกคลุมทั่วท้องฟ้าและตามท้องถนนโดยสังเกตเห็นหมอกควันสีขาวได้ด้วยตาเปล่าในทุกเส้นทาง ขณะที่ประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างให้ความสนใจกับสุขภาพด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ป้องกันตนเอง

กรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ตำบลสะเตงอำเภอเมืองยะลาเมื่อเวลา 07.00น. วันนี้ (24 ก.ย.) พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าสูงถึง 82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (g/m3) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งค่าที่ตรวจพบมีปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อวานนี้มาก

ทั้งนี้นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซียที่ปกคลุมท้องฟ้าทั่วบริเวณของภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ขณะนี้เริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้วโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้เปิดศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านหมอกควันฯ (EOC) เพื่อการประเมินความเสี่ยงและติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควัน จึงขอให้ประชาชนทั่วไปหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งอยู่ในบ้านปิดประตูหน้าต่างหากต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยดื่มน้ำบ่อยๆ งดการสูบบุหรี่และงดการเผาขยะ หากพบอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคือง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากจำเป็นควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น สวมหน้ากากอนามัย และหากพบอาการเพิ่มเติม เช่น แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มหญิงตั้งครรรภ์ กลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มโรค : ทางเดินหายใจ หลอดเลือดและหัวใจ ตาอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือเข้าไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากเป็นระยะเวลานาน แต่หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูง ควรป้องกันโดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (N95) รวมถึงกลุ่มที่มีอาชีพต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรสวมหน้ากากอนามัยสวมแว่นตาและหากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติให้รีบไปโรงพยาบาลทันที