ไม่พบผลการค้นหา
รมช.คลังฝากการบ้านนักวิชาการค้านดิจิตอลวอลเล็ต ช่วยขีดเส้นใครควรได้-ไม่ได้ ยันไม่เคยพูดปรับลดวงเงินเหลือ 4 แสนล้าน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิเสธว่าไม่เคยให้ข่าวว่าจะปรับลดวงเงินในโครงการกระเป๋าเงินดิจิตอล (Digital Wallet) 10,000 บาท เหลือ 400,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าจากการสำรวจประชากรที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปมีอยู่ประมาณ 54.8 ล้านคน ลดจากคาดการณ์เดิมที่จะมีอยู่กว่า 56 ล้านคน จะทำให้วงเงินสูงสุดของโครงการไม่เกิน 5.48 แสนล้านบาท

ประกอบกับจะมีขั้นตอนยืนยันตัวตน (KYC) ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า “ไม่ใช่การลงทะเบียน” และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้จะเข้าสู่กระบวนการยืนยันการใช้-ไม่ใช้สิทธิ์ก็จะทำให้ทราบตัวเลขงบประมาณ ที่จะใช้ในโครงการอย่างแท้จริงได้

จุลพันธ์ ยังยืนยันว่าไม่เคยให้ข่าว ถึงการปรับลดหลักเกณฑ์ ที่เน้นช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ยืนยันว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การสงเคราะห์และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนที่สังคมถกเถียงว่าใครควร-ไม่ควรได้ อยากให้เสนอหลักเกณฑ์ที่ขึ้นมา คณะกรรมการพร้อมรับฟัง

แนะ ธ.ก.ส. เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อโอกาสลดมูลหนี้-เริ่มต้นชีวิตใหม่

นอกจากนี้ จุลพันธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ได้ขอให้ ธ.ก.ส.ประชาสัมพันธ์ถึงลูกค้ากลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มาเข้าร่วมโครงการพักหนี้ หลังพบว่าลูกหนี้ที่ร่วมโครงการแล้ว 3.1 แสนคน เป็นบัญชีปกติ

ด้าน ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุถึงยอด NPLปัจจุบันของธนาคาร มีอยู่ราว 36,000 ล้านบาท คิดเป็นลูกค้าราว 6 แสนคน จากลูกค้าทั้งหมด 2.09 ล้านคน โดยธนาคารจะประชาสัมพันธ์ผ่านแอพลิเคชั่น และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารลงพบปะอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ชวนให้ร่วมโครงการ เพื่อปลดล็อกคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คาดว่า เมื่อครบกำหนดลงทะเบียน จะมีลูกค้าร่วมโครงการพักหนี้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 70 (ประมาณ 1.9 ล้านคน) โดยจะเปิดลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่น BAAC Mobile ไปจนถึง 31 ม.ค. 67

จุลพันธ์ ย้ำว่าหากโครงสำเร็จก็ต่อยอดการพักชำระหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ พักหนี้ให้เกษตรกรในระยะที่ 2 ต่อไป