ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ชี้การแบนสารพิษอันตรายภาคเกษตร ทุกฝ่ายต้องเชื่องานวิจัยของ สธ. และนักวิชาการ ย้ำจะไม่ยอมให้คนไทยตายผ่อนส่งอีกต่อไป

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง ควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุ กรณีมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแบน 3 สารพิษอันตรายร้ายแรง โดยจะไปยื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธาน ว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็น ประธาน กมธ.วิสามัญ มีข้อสังเกตดังนี้

1.ตนเป็น ส.ส.มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2544 เพิ่งเคยเห็น ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่วมกันลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ที่สำคัญ มีผู้ยื่นญัตติในทำนองเดียวกันถึง 7 ญัตติ แสดงว่า ส.ส.ทุกพรรคการเมืองเห็นความสำคัญถึงพิษภัยร้ายแรงของสารเคมีในภาคเกษตรกรรมได้ส่งผลเสียหายต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นปัญหาหมักหมมมาช้านาน ถึงขั้นที่ต้องแก้ไขโครงสร้างในการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค ตลอดจนพลิกวิถีชีวิตเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน

2. จากการรับฟังข้อมูลจากผู้มาชี้แจงใน กมธ. ตนเชื่อในงานวิจัยของนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข งานวิจัยของนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหิดล จุฬาฯ ขอนแก่น นเรศวร ว่า พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีพิษต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รายละเอียดจะได้นำไปบรรจุไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการ ฯ

นายชวลิต ยังยกตัวอย่างงานวิจัยของ ม.มหิดล ตรวจพบว่า พาราควอตถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารก ตัวอย่างที่สอง งานวิจัยของ ม.นเรศวร ตรวจพบพาราควอตอยู่ในเนื้อปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนพบพาราควอตในน้ำที่จะไปทำน้ำประปา ประการสำคัญที่สุด กระทรวงสาธารณสุขยังเผยแพร่ข้อมูลว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายของคนไทยเป็นอันดับ 1 มากว่า 10 ปีติดต่อกัน ปัจจุบันคนไทยตายด้วยโรคมะเร็ง ปีละ 80,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน วันละ 192 คน

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่า สารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรมเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคพาร์กินสันและโรคอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

3. กรณีมีผู้ร้องคัดค้านไม่ให้แบนสารเคมีร้ายแรงดังกล่าว โดยจะไปร้องคัดค้านมติคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มี น.ส.มนัญญา เป็นประธาน ตามรายงานข่าวแจ้งว่า จะไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครอง นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี ศาลทำหน้าทึ่ผดุงความยุติธรรม ก็คงจะฟังข้อมูลจากทุกด้าน โดยเฉพาะข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและผู้วิจัยคงจะเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักที่ศาลต้องรับฟังที่สำคัญ ศาลก็กินผัก ผลไม้ ทุกวันเหมือนคนไทยทั่วไป ก็ต้องห่วงใยประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรรวมทั้งตนเองและครอบครัวด้วยเช่นกัน

4. รับทราบข้อมูลมาว่า นักวิชาการ 2 ท่านที่เคยถูกข่มขู่ คือ ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ว่าผู้ข่มขู่น่าจะมิใช่เกษตรกรตัวจริง เพราะดูเป็นคนก้าวร้าว รุนแรง ผิดวิสัยเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับ ข้อสังเกตของตนที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับเกษตรกรมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พบปะเกษตรกรมาทุกภาค พบว่า วิถีชีวิตของเกษตรกรนั้นเรียบง่าย สุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่มีบุคลิกแข็งกร้าวถึงขั้นจะไปข่มขู่ ก้าวร้าวนักวิชาการที่ทำงานตามหน้าที่

5. ในฐานะประธาน กมธ. ขอยืนยันว่า ตนได้แสดงความเห็นในที่ประชุมหลายครั้งว่า งานของ กมธ. ไม่ได้มีหน้าที่หาสารทดแทนสารพิษที่จะถูกแบนเราไม่ต้องการหนีเสือปะจรเข้ แบนสารหนึ่ง เพื่อประโยชน์อีกสารหนึ่ง แต่ กมธ.ต้องการระงับยับยั้งการตายผ่อนส่งของคนไทย จากสารพิษอันตรายที่ 53 ประเทศเขาแบนแล้ว ที่สำคัญ กมธ.อยากจะเห็นเด็กเกิดใหม่ที่จะเจริญเติบโตเป็นอนาคตของชาติมีร่างกาย สติปัญญา สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็น ออทิสติก มีไอคิวสูง ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ มารดาก็จะต้องได้บริโภคผัก ผลไม้ ที่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ กมธ.เห็นว่า ควรยกระดับเกษตรกรรมของไทยเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันพัฒนาเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริม สนับสนุนนโยบายดังกล่าวกันอย่างจริงจัง

เป็นที่น่ายินดีว่า หลายมหาวิทยาลัย หลายสถานศึกษา ให้ความร่วมมือกับ กมธ.จะเข้ามาให้ข้อมูลถึงทางเลือก หรือวิธีทดแทนเมื่อเลิกใช้สารเคมีร้ายแรง 3 ตัวดังกล่าว ซึ่ง กมธ.จะได้บรรจุไว้ในรายงานของ กมธ.ที่จะต้องรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป