ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี เชียงราย ยโสธร ระยอง สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี รวม 109 อำเภอ 828 ตำบล 8,167 หมู่บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอและตำบล พ.ศ.2563-2565 ตามนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซ่า โดยมี นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ ศปถ.เป็นประธาน
นิพนธ์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์การลดเจ็บลดตายบนถนนของประเทศไทยจากระบบข้อมูลสามฐาน จะลดจาก 21,745 ราย ตั้งแต่ปี 2559 จนลดลงเหลือ 19,904 ราย ในปี 2562 และมีแนวโน้มการลดการเสียชีวิตจากผลของมาตรการต้านโควิด 19 ในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 16,000 ราย แต่หากมองในระยะยาวตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนนกระทบทั้ง เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว และคุกคามโครงสร้างประชากร คนวัยเรียนวัยทำงานหายไปปีละเป็น 10,000 ราย และพิการถาวรมากกว่า 5,000 ราย ต่อปี ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะลดตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุ และไม่ให้ไปแย่งเตียงกับผู้ป่วยปกติ
นิพนธ์ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบนถนนลดลง จึงเป็นแนวทางสำคัญนำมาปรับใช้กับการลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้ความเข้มแข็งในระดับชุมชน ร่วมกับจุดแข็งด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ลดการเจ็บตายจากการขับขี่เน้นการสวมหมวกนิรภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้คำนึงว่าต้องสวมหมวกนิรภัยเหมือนสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน 2.พัฒนาศูนย์เด็กทุกแห่งเพื่อบ่มเพาะวินัยความปลอดภัยบนถนน ตั้งแต่เด็กเล็กโดยความห่วงใยและความร่วมมือร่วมใจของครู ผู้ปกครองและผู้บริหาร อปท. เพื่อส่งต่อให้สถานศึกษาขั้นต่อไป 3.แก้ปัญหาถนนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถนนของท้องถิ่นที่มีพื้นผิวถนนยาวถึง 600,000 กิโลเมตร มากกว่าทางหลวงและทางหลวงชนบทถึงห้าเท่า รวมทั้งให้เห็นความสำคัญแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ทั้งมีจุดตัดรถไฟที่เป็นจุดลักผ่านอีกมากมาย 4.การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยพลังของคนในท้องถิ่นท้องที่ ทั้งการตั้งด่าน การเอาจริงกับกติกาชุมชน หากความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตลดได้ปีละ ร้อยละ 5-10 ในระยะเวลา 10 ปี จะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่มีปฏิญญาไว้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่เกิน 12 คน จากประชากร 100,000 คน ซึ่งปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 31 คน จากประชากร 100,000 คน
ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ไทยติดอันดับโลกในอันดับต้นๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน นอกจากการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตามกฎหมาย ความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญด้วย ก่อนหน้านี้ที่ได้นำร่องใน 10 จังหวัด พบว่ามีกลไกมีแนวทางแก้ปัญหาที่ดี ที่สามารถนำมาขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ จึงได้ประสานขอความร่วมมือกับ 9 จังหวัดในวันนี้ (24 พ.ย.) ซึ่งถือเป็นเฟส 2 ทั้ง 9 จังหวัด มีความพร้อมในการดำเนินการ เพราะการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุไม่สามารถรอได้ ต้องดำเนินการโดยทันทีไม่ต้องรอรณรงค์ช่วงเทศกาล หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเป้าหมายที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าอย่างแน่นอน
ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. กล่าวว่า ในด้านการดำเนินงานของ สอจร. จากนี้ต้องเริ่มจากสร้างแกนนำในทุกจังหวัด ขยายผลไปสู่แกนนำอำเภอ และแกนนำตำบล ที่เข้ามาทำงานนี้ ผ่านกิจกรรมที่สำคัญ คือ มาตรการองค์กร การแก้จุดเสี่ยง การตั้งด่านต่าง ๆ และศูนย์เด็กเล็ก ผ่านยุทธวิธีทางการขับเคลื่อน 5 ส 5 ช “ชง ชวน เชื่อม ช้อน เช็ก” เพื่อสร้างเครือข่ายนำคนมาทำงานร่วมกัน และที่สำคัญคือต้องมีระบบการกำกับติดตามในทุกพื้นที่ ว่าสามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรที่พบ โดยเชื่อว่าแนวคิดนี้ ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินการ และกลุ่มแกนในการขับเคลื่อน ต้องมุ่งเป้าไปที่เรื่องใหญ่ก่อน เช่น การสวมหมวกนิรภัย การขับขี่รถจักรยานยนต์ และเรื่องเด็กเล็ก น่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อยากฝากถึงทีมงานเครือข่าย และพี่เลี้ยงทุกจังหวัดว่า ขอให้มุ่งมั่น ตั้งใจ อย่าท้อแท้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่งานง่ายที่จะเข้าไปสร้างแกนนำในแต่ละระดับ เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และเอาจริงเอาจัง
วิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ที่จะมีการพัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด สู่ระดับอำเภอ และระดับตำบล ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ต้องไปถอดบทเรียน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงไปสู่ระดับท้องถิ่น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้อุบัติเหตุลดน้อยลง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าคดีอาชญากรรม หรือคดีประทุษร้าย ทำอย่างไรที่เราจะหยุด และทำใหเป็นไปตามกติการของสากล ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้นโยบายไว้
โดยทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะพยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น จะต้องมีการประชุมติดตามงานจากทุกภาคส่วน ทำความเข้าใจถึงปัญหาร่วมกัน แนวทางการปฎิบัติของทั้ง 9 จังหวัดหลังลงนาม MOU ครั้งนี้ พร้อมย้ำว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน เรื่องใหญ่คือการช่วยกันลดงบประมาณแผ่นดิน ดูแลและพัฒนาทุกด้านของประเทศ