ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการรัฐศาสตร์ แนะ ‘ก้าวไกล’ โชว์สกิลเจรจากองทัพ-ดูแลทหารชั้นผู้น้อย เชื่อ ‘ประวิตร’ ลดบทบาทหลังตั้ง ครม. ชุดใหม่

18 พ.ค. วันวิชิต บุญโปร่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ถึงอนาคตของทหาร ภายหลังพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ในเบื้องต้นกองทัพได้แสดงบทบาทของความเป็นทหารอาชีพที่จะต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และยอมรับผลการจัดตั้งรัฐบาลโดยฝ่ายพลเรือน เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่มีพลเรือนมาคุมกองทัพ เรียกว่า “Civilian Supremacy” หมายความว่า กองทัพนั้นยอมรับการโดนปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนอย่างสุจริตใจโดยไม่มีเงื่อนไข นั่นคือการสร้างมาตรฐานสากลว่า “กองทัพเข้าสู่โหมดทหารอาชีพที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น”

แม้หลายคนจะตั้งคำถามจากผลการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การไม่พอใจของผู้บัญชาการเหล่าทัพไหม เพราะตลอดระยะเวลา 9 ปี กองทัพเป็นเนื้อเดียวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาโดยตลอดนับตั้งแต่รัฐประหาร โดย วันวิชิต กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่า ผบ.เหล่าทัพจะต่อต้านแบบนั้น โดยเฉพาะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน ถ้าประกาศว่า “การปฏิวัติเป็นศูนย์” แล้วให้ตั้งคำถามตรงกันข้ามนั้นก็เชื่อว่า เขาไม่มีความคิดรัฐประหาร เพราะในวันที่ 30 ก.ย. ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาหารทหารอากาศ ผู้บัญชาหารทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเกษียณพร้อมกัน ดังนั้นเป็นอำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องจัดสมการแผงอำนาจครั้งใหม่

ดังนั้นเราจะได้เห็นบทบาท และความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ในการประนีประนอม แตกหัก หรือการพูดคุยเจรจากับกองทัพ นี่คือบททดสอบของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมาจากพลเรือน หรือมาจากตัวแทนอดีตนายพลกองทัพ โดยส่วนนี้จะเห็นศิลปะของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องพูดคุยกับกองทัพ

ส่วนกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศจะนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วบทบาทของกองทัพจะเป็นอย่างไร วันวิชิต กล่าววื่ หลายคนอาจจะเห็นว่าบทบาทของพรรคก้าวไกล และกองทัพเป็นปฏิปักษ์กันในแง่มุมมอง แต่บางเรื่องกองทัพก็อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถรรับได้ เช่นเรื่องที่กองทัพได้นำร่องไปแล้วคือ การลดสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร แม้ว่าจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ของพรรคก้าวไกลที่ต้องการยุติการเกณฑ์ทหารแล้วเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ แต่ปัจจุบันตัวเลขผู้เข้าสู่ทหารสมัครใจนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี

พรรคก้าวไกลหากจะดูแลกระทรวงกลาโหมอาจจะต้องไปดูในเรื่องของสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย สวัสดิการของข้าราชการกระทรวงกลาโหม เพราะจะเห็นว่า ในหน่วยเลือกตั้งเขตทหาร พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น แสดงว่า ถ้าพรรคก้าวไกลแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากกว่าไปรื้อการแต่งตั้งโยกย้ายจนมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งซึ่งต้องระวัง พรรคก้าวไกลจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือแก่กองทัพด้วยความปรารถนาดีที่จะเข้าไปพิจารณางบประมาณกองทัพอย่างเป็นธรรม เพราะนี่คือช่วงรอยเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลเก่าที่กำลังจะหมดวาระไป แต่ทั้งหลายต้องดูว่า อำนาจรัฐบาลรักษาการจะมีการแต่งตั้งอย่างทิ้งทวนหรือไม่ แต่โดยมารยาทจะไม่ทำ เพราะต้องปล่อยให้อำนาจรัฐบาลชุดใหม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายด้วย

เมื่อถามถึงอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับเลือกตั้งในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ วันวิชิต กล่าวว่า ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จะเดินหน้าเล่นการเมืองอีกแล้ว เพราะอายุ 78 และหลังผลเลือกตั้ความนิยมของพรรคพลังประชารัฐไม่สูงมาก ดังนั้นบทบาทของ พล.อ.ประวิตร ควรจะอยู่การเมืองหลังฉากดีที่สุด เชื่อว่าบารมีไม่ได้หดหาย กลุ่มเครือข่ายยังคงแวะเวียนเข้าหาเหมือนเดิม

ส่วนความชัดเจนที่ พล.อ.ประวิตร จะสละตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือไม่นั่น วันวิชิต มองว่า การขยับขยาย และความชัดเจนของ พล.อ.ประวิตร คงจะชัดเจนขึ้นภายหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ในเวลานั้น