ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ค้านต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จี้ยกเลิกทหารและนักการเมืองนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ชี้ปัญหาการขาดทุนรวมถึงการบินไทยคือการแทรกแซงการบริหารจากฝ่ายการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2563 ที่ห้องประชุมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการและแถลงข้อเสนอภาคประชาชนต่อรัฐบาล โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. เสนอให้รัฐบาลหยุดขยายอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ จี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิดรองรับกองทัพคนตกงาน

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า ครป.ขอเสนอให้รัฐบาลหยุดขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป เนื่องจากการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความเหมาะสมและจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดี และเงื่อนไขหลักไม่ได้เกิดมาจากการใช้อำนาจในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มาจากความแข็งแกร่งของฝ่ายสาธารณสุข ทั้งจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล การป้องกัน และความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านทั่วประเทศ อีกด้านหนึ่งมาจากวัฒนธรรมความร่วมมือของภาคประชาชนเป็นหลัก และเห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะยาวต่อไปจะกระทบต่อเสรีภาพประชาชน และกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ ครป.กังวลคือ รัฐจะฟื้นฟูอย่างไร นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำร้ายบางนโยบายยังเป็นไปเพื่อส่งเสริมกลุ่มทุนมากกว่าแทนที่จะการส่งเสริมภาคประชาชน รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับในระยะยาว เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับกองทัพคนตกงานในอนาคต

“สำหรับพัฒนาการทางการเมือง ยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเสพติดอำนาจเด็ดขาด มีแนวโน้มไปที่การรวมศูนย์อำนาจและจะสร้างความขัดแย้งได้ในอนาคต การพัฒนาประชาธิปไตยต้องกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทางออกจากความขัดแย้ง ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จะต้องมีการเตรียมการ โดยให้คนจำนวนหนึ่งในรัฐบาลที่ว่างงานอยู่เตรียมการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนนี้”

นายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า สาธารณสุขของไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และความร่วมมือของคนไทยทำให้การแก้ไขปัญหาโควิดเป็นไปด้วยดี การยืดเวลาการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ การใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องแจ้งภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ผ่านเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ได้ยินว่ารัฐบาลดำเนินการแล้ว และการใช้อำนาจต้องมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลภายใน รวมถึงความเห็นจากฝ่ายตุลาการศาลทั้งหลาย 

"ผมตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาการบินไทย ไม่เกี่ยวกับปัญหาโควิด ดังนั้นรัฐบาลอย่าลักไก่ทำในอำนาจพิเศษ ควรให้ระบบรัฐสภาทำงานและมีการตรวจสอบปัญหาการคอร์รัปชันที่ผ่านมาในหลายรัฐบาล"นายกษิต ระบุ

373031.jpg

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกรรมการ ครป. เห็นว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อสามารถใช้แก้ปัญหาได้ จึงไม่เห็นด้วยในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปัญหาในรัฐวิสาหกิจไทยโดยเฉพาะการบินไทยคือ การทุจริตคอร์รัปชัน การเอาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายยังไม่มีการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาๆ ว่ามาจากรัฐบาลในยุคไหนบ้าง และบอร์ดบริหารชุดใดบ้าง ไม่ใช่ความผิดของพนักงาน แต่กลับมีการผลักดันเพื่อให้พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเร็ว โดยไม่มีการแก้ปัญหาที่สาเหตุ

นอกจากนี้ มาตรการในการเยียวยาภาคแรงงานยังเป็นปัญหา ยังมีนายจ้างประมาณ 5-6 หมื่นคนยังไม่ยืนยันสถานะให้ลูกจ้างเพื่อให้ได้รับเงินประกันสังคม และหลังโควิดจะมีคนตกงานจะมีมากขึ้น คนเหล่านั้นจะหันหลังกลับไปชนบทก็ลำบาก เนื่องจากภาคเกษตรกรรมก็ถูกกลุ่มทุนผูกขาดปัจจัยการผลิต

นายกิตติชัย ใสสะอาด ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้าก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้นในช่วงโควิดและอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้าของการใช้ไฟ ซึ่งเหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรม 

"ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง มาจากการกำหนดของ รัฐบาล และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และปัจจุบันรัฐบาลให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากกว่า กฟผ. ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ที่รัฐต้องเป็นเจ้าของสาธารณูปโถคขั้นพื้นฐานเกินกึ่งหนึ่ง โดยมีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและประกันรายได้ให้นายทุนโรงไฟฟ้าจนร่ำรวย" นายกิตติชัย กล่าว

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวสรุปว่า บทเรียนจากการแก้ไขปัญหาโควิดไม่ใช่วิธีการใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ หรือระบบรัฐราชการ แต่แนวทางการแก้ไขคือการกระจายอำนาจ ให้พื้นที่และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะยั่งยืนในระยะยาว  

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังเข้าใจผิดคิดว่าการบังคับใช้อำนาจเป็นคำตอบและจะต่ออายุการใช้อำนาจพิเศษเรื่อยไปในระยะยาวโดยอ้างโควิดระบาด แต่แท้จริงหวังผลทางการเมือง โดยใช้อำนาจควบคุมความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมือง ปัจจุบันการใช้อำนาจฉุกเฉินยังเป็นการรวบอำนาจมาจากรัฐมนตรีทั้งหลายที่มาจากพรรคร่วมและระบบเลือกตั้ง ทำให้ระบบรัฐสภาไม่ทำงาน และไม่มีกลไกการตรวจสอบและรับผิด 

นายเมธา กล่าวว่า รัฐบาลแอบฉวยโอกาสในช่วงบังคับใช้อำนาจพิเศษ ต่อเวลาให้ตนเอง นโยบายด้านเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคงและยั่งยืนนอกจากการเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าภาคแรงงาน ไม่มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างหลังพิงให้ประเทศไทยด้านเกษตรกรรมที่มีอนาคตและเป็นทรัพยากรสำคัญในโลกยุคหลังโควิด แต่ให้ท้ายกลุ่มทุนครองตลาดทั้งภาคสินค้าอุปโภคบริโภค และทรัพยากรที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตขึ้นได้เองที่รัฐควรเป็นเจ้าของ และกลับให้สัมปทานเอกชนผูกขาดหากำไร 

"การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจไทยเพื่อรองรับการบริการสาธารณะจากรัฐ ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการส่งทหารมาเป็นบอร์ดบริหารในทุกรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันมีทหารเป็นประธานบอร์ดกว่า 16 แห่งและเป็นกรรมการบอร์ดกว่า 40 รัฐวิสาหกิจ และหยุดใช้การเมืองแทรกแซงการบริหารและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้การแต่งตั้งบอร์ดบริหารจากนักบริหารมืออาชีพทั้งหมดที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ให้ทหารและนักการเมืองไปนั่งเป็นบอร์ด ฝ่ายการเมืองมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบเท่านั้น เพราะปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจรวมถึงการบินไทยคือการแทรกแซงการบริหารจากฝ่ายการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย" นายเมธา กล่าว