ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC รวมตัวออกจากการประชุมด้านเศรษฐกิจเร่งด่วนในวันนี้ (18 พ.ย.) เพื่อออกแถลงการณ์ประณามเกาหลีเหนือ หลังจากเกาหลีเหนือทดสอบการยิงขีปนาวุธ ซึ่งคาดว่าเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป ตกลงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น

สำนักข่าว Reuters รายงานอีกว่า ในขณะเดียวกันที่นอกศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห่างออกไปจากสถานที่ประชุมระดับผู้นำ APEC เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย กำลังกล่าวเปิดการประชุม APEC ในกรุงเทพฯ

หลังจากมีรายงานการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ ก่อนพิธีเปิดการประชุม APEC ได้เพียงชั่วโมงเดียว กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ขอเปิดการหารือเร่งด่วนนอกรอบ ในบรรดาผู้นำชาติพันธมิตรของตน ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่เข้าร่วมการประชุม APEC ในครั้งนี้ 

“การกระทำของเกาหลีเหนือเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างโจ่งแจ้ง” แฮร์ริสกล่าวในที่ประชุม "มันทำให้ความมั่นคงเกิดภาวะไร้เสถียรภาพในภูมิภาค และทำให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำ

ในทางตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการประชุมแสวงหาเส้นทางการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการเมือง “เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นอยู่ได้อีกต่อไป เราต้องปรับมุมมอง วิถีชีวิต และวิธีการทำธุรกิจของเรา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับผู้ฟัง ซึ่งรวมถึง แฮร์ริส และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

สำนักข่าว Reuters ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กล่าวถึงการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวว่าขีปนาวุธดังกล่าว ตกห่างจากญี่ปุ่นเพียงแค่ 200 กิโลเมตร และมีระยะเพียงพอที่จะร่อนไปถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในการประชุม APEC กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เกาหลีเหนือ “ได้กระทำการยั่วยุซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความถี่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

การประชุม APEC เป็นการประชุมสุดยอดการประชุมที่ 3 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จัดขึ้นในกัมพูชา และมีจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าร่วม ตามจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศ G20 บนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ การประชุมก่อนหน้า APEC เต็มไปด้วยบรรยากาศการพูดคุยในประเด็นสงครามในยูเครน ตลอดจนความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลี

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า นักกิจกรรมไทยต้องการเข้าพบกับผู้นำ ที่ขึ้นพูดในเรื่องความไม่มั่นคงด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มผู้ประท้วงรากหญ้ามีการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของตน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าทำการปราบปรามการชุมนุม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากสถานที่ประชุม APEC กว่า 10 กิโลเมตร

วิดีโอบนโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่า มีรายงานผู้ประท้วงพยายามคว่ำรถตำรวจ ขว้างปาสิ่งของ และพุ่งเข้าใส่ตำรวจ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในชุดปราบจลาจลพุ่งเข้าใส่ผู้ชุมนุมพร้อมกับโล่ และทุบตีกลับด้วยกระบอง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการประชุมกล่าวว่า ตำรวจยิงกระสุนยางเพื่อสลายผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลประมาณ 350 คน โดยมีการจับกุมผู้ชุมนุมแล้ว 10 คน

ในรายงานแยกกัน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในฐานะแขกรับเชิญพิเศษในการประชุม APEC เรียกร้องให้ผู้นำ APEC ยอมรับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ และระบบพหุภาคีอีกครั้ง เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสชี้ว่า สงครามรัสเซียในยูเครนเป็น "การรุกรานต่อกฎระหว่างประเทศ"

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังได้ระบุอีกว่า ประเทศต่างๆ ควรดำเนินการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันและความไม่มั่นคง “เราต้องปฏิรูปดีเอ็นเอของระบบเศรษฐกิจของเรา ทุกคนยอมรับระบบทุนนิยมและการค้า แต่เราต้องทำให้มันครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น” มาครงกล่าว

ในการประชุม G20 ในอินโดนีเซีย ประเทศส่วนใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์ เพื่อรับรองการประณามสงครามยูเครน แม้จะมีบางประเทศมีความเห็นที่ขัดแย้งแตกต่างกัน ทั้งนี้ รัสเซียเป็นสมาชิกของทั้ง G20 และ APEC แต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เลือกที่จะไม่เดินทางมาร่วมการประชุมทั้งสอง โดยรัสเซียได้ส่ง แอนเดรย์ เบโลซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนแรกมาตัวแทนของปูตินที่การประชุม APEC ในไทยแทน

นอกจากนี้ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวก่อนการประชุมสุดยอด APEC ในวันนี้ว่า เอเชียแปซิฟิกจะไม่ใช่สนามหลังบ้านของใคร และไม่ควรจะถูกใช้เป็นสนามแข่งขันของคู่แข่งชาติมหาอำนาจ เพื่อตอกย้ำถึงความตึงเครียดที่อาจกลายเป็นสงครามเย็นในภูมิภาค ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งจีนและสหรัฐฯ

“จะต้องไม่มีความพยายามในการก่อนสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและยุคสมัยของเรา” สีระบุในร่างแถลงสำหรับการประชุมด้านธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกันกับการประชุม APEC

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มตึงเครียดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากประเด็นความขัดแย้งต่างๆ เช่น ภาษีศุลกากร ประเด็นไต้หวัน การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การปราบปรามอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกง และข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนเหนือทะเลจีนใต้ และอื่นๆ

จีนกำลังมองว่า การเตรียมการเดินทางเยือนหมู่เกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ บริเวณชายทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับจีน โดย กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันอังคารที่จะนี้ (22 พ.ย.) โดยการเดินทางในครั้งนี้ จะทำให้แฮร์ริสกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนหมู่เกาะที่อยู่ติดกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งจีนได้ขุดลอกพื้นทะเลเพื่อสร้างท่าเรือและลานบิน ทั้งนี้ หมู่เกาะสแปรตลีย์ถูกอ้างสิทธิ์โดยบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามด้วย