เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างการเยือนอิตาลีของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและนายหลี่เคอเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน รัฐบาลอิตาลีได้ตกลงเซ็นสัญญาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธ์ศาสตร์แถบและทางของจีน โดยมีการทำข้อตกลงกว่า 29 โครงการและมีโครงการจัดการท่าเรือ 2 แห่งที่อิตาลีทำสัญญาร่วมกับจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือท่าเรือในเมืองเจนัว ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี
แถลงการณ์ในการลงนามระหว่างจีนและอิตาลีระบุว่า "ทั้ง 2 ชาติมีความตั้งใจที่จะสร้างความร่วมมือกันในระดับสูงในเรื่องการขนส่ง ท่าเรือ และความร่วมมือทางทะเลระหว่างกันโดยอยู่ภายใต้ทุนของธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียหรือ AIIB ที่จีนเป็นผู้ก่อตั้งเพื่อปล่อยกู้ให้แก่ประเทศต่างๆ"
นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆที่อิตาลีทำข้อตกลงร่วมกับจีนได้แก่โครงการดาวเทียม อีคอมเมิร์ช การเกษตร การนำเข้าเนื้อวัวและเนื้อหมู สื่อ วัฒนธรรม ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ 2 ชาติยังทำข้อตกลงร่วมมือในการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการส่งเสริมการค้าแบบทวิภาคีระหว่างกันอีกด้วย รอยเตอร์ประเมินว่ามูลค่าของโครงการที่อิตาลีทำสัญญากับจีนนั้นสูงถึง 20,000 ล้านยูโร
อิตาลีเป็นชาติแรกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ 7ประเทศ หรือ G7 และเป็นประเทศแรกในกลุ่มผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปที่เข้าร่วมยุทธศาสตร์ 'แถบและทาง' ของจีน ขณะที่หลายชาติเตือนว่า การเข้าร่วมยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นจะนำพาอิตาลีไปสู่ 'กับดักหนี้' ของจีน
ทางด้านสื่อยุโรปวิเคราะห์ว่า สาเหตุการทำข้อตกลงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 'แถบและทาง'ระหว่างอิตาลีกับจีนในครั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในรอบกว่า 3 ทศวรรษของอิตาลี และรัฐบาลอิตาลีหวังว่า โครงการต่างๆของจีนนั้นจะช่วยเข้ามากระตุ้นการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจของอิตาลีให้กระเตื้องขึ้นได้
นอกจากนี้รัฐบาลอิตาลียังหวังว่า การร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนที่มากขึ้นจะช่วยลดการขาดดุลการค้าระหว่างอิตาลีกับจีนได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาอิตาลีขาดดุลการค้ากับจีนกว่า 17,600 ล้านยูโร หรือประมาณ 689,947 ล้านบาท ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าไปจีนนั้นสินค้าของอิตาลีส่งออกได้น้อยกว่าสินค้าจากเยอรมันหรือฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามก็มีเสียงคัดค้านการทำข้อตกลงระหว่างจีนและอิตาลีจากสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลอิตาลีบางราย อย่างนายแมตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีกล่าวว่า "การทำข้อตกลงของผู้นำรัฐบาลอิตาลีทำให้อิตาลีเสี่ยงต่อการตกอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน"
ทั้งนี้ยังมีเสียงวิจารณ์จากประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปบางส่วนถึงการตัดสินใจของรัฐบาลอิตาในครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสกล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์กับจีนนั้นต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของการค้าเป็นสำคัญ
ขณะที่ชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯก็แสดงท่าทีไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลอิตาลีเช่นกัน โดยสหรัฐฯแสดงความกังวลว่า จีนอาจใช้อิตาลีขยายอิทธิพลทางทหารเข้ามาในยุโรป รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดแนมถึงผลประโยชน์แห่งชาติใน��ระเทศตะวันตกด้วย