มติ UNSC 2669 ต่อกรณีเมียนมาแสดง “ความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ ซึ่งถูกบังคับใช้โดยกองทัพ” และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหาทางออก ต่อประเด็นดังกล่าวที่มีมาอย่างยาวนาน มติดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างสูงยิ่ง ต่อเหยื่อของความรุนแรง โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และประชากรผู้พลัดถิ่น รวมถึงชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมในเมียนมา
มติดังกล่าวออกมา หลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน และเดินหน้าการปราบปราบ จับกุม และประหารผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วทั้งประเทศ ในช่วงตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มขึ้นจากการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายของประชาชน อันมี อองซาน ซูจี เป็นผู้นำพลเรือนคนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ และยังคงเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาและโทษทางการเมือง ที่ทำให้เธออาจถูกสั่งจำคุกไปจนวันตาย
ปัจจุบันนี้ เสรีภาพของประชาชนชาวเมียนมาถูกริดรอนจากกองทัพเมียนมาอย่างรุนแรง อีกทั้งเมียนมายังมีการนำโทษประหารชีวิตกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง ยังมีประชาชนอีกหลายพันรายที่ถูกจับกุมตัว อันเป็นผลมาจากการประท้วงขับไล่กองทัพเมียนมาออกจากการเมือง และเรียกร้องให้มีการคืนระบอบการปกครองตามวิถีประชาธิปไตยของประชาชน กองทัพเมียนมายังคงมีการโจมตีใส่กองกำลังพลเรือน ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียน ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาอ้างว่าตัวเองทำการโจมตี “ผู้ก่อการร้าย” และจะคืนสันติภาพมาให้แก่ประเทศโดยเร็ว
มติในครั้งนี้ออกเมื่อช่วงวันพุธที่ผ่านมา (21 ธ.ค.) ทั้งนี้ ร่างมติดังกล่าวถูกเสนอโดยสหราชอาณาจักร และได้รับการลงมติสนับสนุนจาก 12 ชาติสมาชิก UNSC ทั้งสมาชิกแบบถาวรและไม่ถาวร โดยไม่มีชาติใดลงมติคัดค้าน ทั้งนี้ มีจีน อินเดีย และรัสเซีย ที่ลงมติงดออกเสียง
ปัจจุบันนี้ อองซานซูจี ถูกขังเดียวอยู่ในเรือนจำ ณ กรุงเนปิดอว์ ภายใต้การตั้งข้อหาจำนวนมาก โดยมุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาในวัย 77 ปี ถูกศาลเผด็จการเมียนมาตัดสินโทษจำคุกจากบางคดีรวมกันแล้วกว่า 26 ปี รวมถึงการสั่งใช้แรงงานหนักอีก 3 ปี อย่างไรก็ดี การตัดสินคดีดังกล่าวถูกวิจารณ์จากประชาคมโลกว่าเป็นเรื่องทางการเมือง และเกี่ยวข้องอยู่กับประเด็นการชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ของรัฐบาลจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเธอเมื่อปี 2563 นับเป็นการโค่นล้มอำนาจพรรคการเมืองทหารเมียนมาได้อย่างเด็ดขาด
ในถ้อยแถลงเมื่อวันพุธ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ชื่นชมคณะมนตรีความมั่นคงที่ยอมรับมติดังกล่าว “ด้วยมตินี้ ประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้ระบอบปกครองทหารของพม่ายุติความรุนแรงที่น่าสยดสยอง ปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจทันที อนุญาตให้เข้าถึงด้านมนุษยธรรมโดยไม่จำกัด ปกป้องชนกลุ่มน้อย” ทั้งนี้ เธอกล่าวถึงพม่าโดยใช้ชื่อเก่าของประเทศ แต่เธอย้ำว่า “มันเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการยุติการนองเลือดเท่านั้น มันต้องทำมากกว่านี้” และกล่าวเสริมว่า UNSC จะต้อง “ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อความโหดร้าย และการปฏิบัติอันมิชอบของระบอบทหารพม่า”
“นับตั้งแต่เผด็จการทหารเข้ายึดอำนาจอย่างรุนแรงในเดือน ก.พ. 2564 พวกเขาได้ทำการปราบปราบอย่างโหดร้ายต่อประชาชนชาวเมียนมา เผาหมู่บ้าน โจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกหน้า ทรมาน และสังหารหมู่” บาร์บารา วูดวาร์ด เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำสหประชาชาติกล่าวในถ้อยแถลง “มตินี้ส่งข้อความที่ชัดเจน คณะมนตรีความมั่นคงกังวลอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าจากน้ำมือของทหาร และสิ่งที่เรียกว่า 'ภาวะฉุกเฉิน' ถูกบังคับใช้เพื่อกดขี่การเรียกร้องสันติภาพและประชาธิปไตยของประชาชน” เธอกล่าวเสริม