ไม่พบผลการค้นหา
ครม. เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ต้ังแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ต้ังแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ รายได้ของ อบต. ซึ่งปัจจุบันมี 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้

 1) รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน  รอง นายก อบต. รวม 15,480 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน

2) รายได้เกิน 10 - 25 ล้านบาท (3,562 แห่ง) 

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน

3) รายได้เกิน 25 - 50 ล้านบาท (525 แห่ง) 

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน

4) รายได้เกิน 50 - 100 ล้านบาท (166 แห่ง)

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500  บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน

5) รายได้เกิน 100 - 300 ล้านบาท ( 30 แห่ง) 

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220  บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 24,720 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน

6) รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง) 

อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน

ทั้งนี้ เงินค่าตอบแทนที่ปรับเพิ่มในครั้งนี้ มีอัตราเดียวกับบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนของเทศบาล ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนจะใช้งบประมาณจากรายได้ของอบต. จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.66 เพิ่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล

และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต. หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปีคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับฟังความคิดเห็นซึ่งปรากฏว่า ร้อยละ 92.20 เห็นด้วยกับการให้มีการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับ ผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต.

นอกจากนี้ยังเห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตาแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รายละเอียด ดังนี้

(1) การปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน สรุปได้ ดังน้ี 

  • กำนัน อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ใหญ่บ้าน อัตรากำลังคน 67,673 อัตราเงินตอบแทน 10,000 บาท/เดือน  (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
  • แพทย์ประจำตำบล อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
  • สารวัตรกำนัน อัตรากำลังคน 14,072 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน  (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง อัตรากำลังคน 149,418 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ อัตรากำลังคน 46,181 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)

(2) ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบข้ันวิ่ง เดิมจากขั้นละ 200 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาทต่อปี และในกรณีที่ได้ 2 ขั้น จะปรับจาก 400 บาทต่อปี เป็น 600 บาทต่อปี ดังนี้

  • กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน

รวมงบประมาณ จากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน จำนวน 4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 4,795.65 ล้านบาทต่อปี 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า อัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีการปรับปรุง ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพสูงขึ้น และหลายหน่วยงานได้ปรับอัตราเงินเดือน หรือเงินตอบแทนไปแล้ว ดังนั้น การปรับปรุงอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งในครั้งนี้ จึงเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของกานัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าท่ีรัฐอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพ้ืนที่เดียวกัน

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 66 ได้อนุมัติแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ.2566-70 ฉบับทบทวน ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อมูลสำคัญด้านต่างๆ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ กำหนดประเด็นการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับศักยภาพ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้ และให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป


พร้อมกับอนุมัติแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,747 โครงการ วงเงินรวม 41,903.46 ล้านบาท โดยเมื่อจำแนกตามประเภทโครงการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ร้อยละ 57) รองลงมาเป็นโรงการด้านการท่องเที่ยว (ร้อยละ 16) ด้านการเกษตร(ร้อยละ9) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ (ร้อยละ5) ด้านสังคม คุณภาพชีวิตและความมั่นคง(ร้อยละ 5) ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ร้อยละ4) ด้านการค้าการลงทุนและสินค้า OTOP (ร้อยละ3) และอื่นๆ (ร้อยละ1)

ไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการฯ แยกเป็น 1)โครงการของจังหวัด 76 จังหวัด 1,545 โครงการ วงเงิน 31,290.47 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่มีความสำคัญลำดับแรก เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัด มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด 1,169 โครงการ วงเงิน 20,662.52 ล้านบาท และโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นรองลงมา 376 โครงการ วงเงิน 10,627.95 ล้านบาท 

2) โครงการและงบประมาณกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ทั้งโครงการและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดตามความต้องการของพื้นที่ และเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ รวม 202 โครงการ งบประมาณ 10,612.99 ล้านบาท แยกเป็นโครงการที่มีความสำคัญลำดับแรกฯ 177 โครงการ วงเงิน 8,651.99 ล้านบาท และโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นรองลงมา 25 โครงการ วงเงิน 1,961 ล้านบาท

ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ.2566-70 รวม 364 โครงการ วงเงิน 787,765.03 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นโครงการที่สอดคล้องและมีการกระจายประโยชน์ในระดับภาคสูง 88 โครงการ วงเงิน 101,711.41 ล้านบาท และโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค 276 โครงการ วงเงิน 686,053.62 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายภูมิภาคแล้วภาคเหนือ 105 โครงการ 223,656 ล้านบาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 โครงการ วงเงิน 348,487.93 ล้านบาท, ภาคกลาง 129 โครงการ วงเงิน 1,386.53 ล้านบาท, ภาคตะวันออก 31 โครงการ วงเงิน 86,424.11 ล้านบาท ภาคใต้ 57 โครงการ วงเงิน 124,733.6 ล้านบาท และภาคใต้ชายแดน 31 โครงการ วงเงิน 3,076.6 ล้านบาท


‘วิษณุ’ เผยทิ้งทวนท้ายรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง ถือเป็นการทิ้งทวนก่อนยุบสภาหรือไม่ว่า เป็นทุกสมัยไม่ว่ารัฐบาลไหน หลายเรื่องไม่ต้องเข้าในสัปดาห์นี้ แต่เราไม่อยากไปดำเนินการในสัปดาห์ต่อๆ ไป แต่ไม่ถือว่าเป็นการทิ้งทวนอะไร เพราะมีเรื่องเวลามาล็อกไว้ เนื่องจากหากยุบสภาไปแล้วหลายเรื่องจะพิจารณาไม่ได้ 

ส่วนมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการยุบสภาวันที่ 20 มี.ค. ทำให้การประชุม ครม.ครั้งหน้าจะเป็นรัฐบาลรักษาการ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าวันไหน แต่วันที่ 21 มี.ค.จะยังมีการประชุม ครม.อยู่ตามปกติ ส่วนเรื่องจะมากน้อยขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ 

เมื่อถามกรณีที่มีการถอนวาระพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วิษณุ ระบุว่า เมื่อ ครม.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ และหลายฝ่ายเห็นว่าควรรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ใกล้จะตัดสินแล้ว เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เสนอเป็นวาระจร วิษณุ กล่าวว่า อธิรัฐไม่ได้เสนอวาระจร แต่เรื่องมันจร เพราะเรื่องเพิ่งเสนอเข้ามา กว่าจะขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆได้ เมื่อถามย้ำว่า เรื่องดังกล่าวจะกลับมาเสนอทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ยากที่จะเสนอมาในรัฐบาลนี้ เพราะหาก ครม.ไม่ได้อนุมัติไว้แล้ว จะติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) 

ส่วนทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม จะไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวยอมรับว่า ใช่ส่วนการประชุม ครม.ครั้งนี้ เป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายที่จะอนุมัติโครงการต่างๆ ได้ใช่หรือไม่ วิษณุ ระบุว่า หากงบประมาณใดที่วงเงินติดอยู่ในวงเงินงบประมาณแล้วสามารถอนุมัติได้ แต่ถ้าไม่อยู่ในรายการงบประมาณแล้วเกิดมีการยุบสภา ครั้งนี้ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายถ้ามีการยุบสภา แต่ถ้าสภาครบวาระจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากยุบก่อนวันที่ 21 มี.ค. จะอนุมัติโครงการไหนไม่ได้

ทั้งนี้นายกฯ ได้ส่งสัญญาณจะยุบสภาเมื่อไหร่แล้วหรือยังนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ท่านไม่ได้พูดอะไร พูดแต่เพียงว่าอาทิตย์หน้าประชุม ครม.

นอกจากนี้ วิษณุ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไม่อยู่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเหลืออธิรัฐอยู่คนเดียว หากไม่อยู่ให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปรักษาการแทน นอกนั้นไม่ได้เปลี่ยนอะไร  

ส่วนมีรัฐมนตรีคนอื่นลาออกอีกหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ไม่มีใครแจ้ง เมื่อถามถึงกระแสข่าว สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลาออกนั้น วิษณุ ระบุว่า ก็ยังเห็นอยู่