ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีคณะราษฎร 2563 ประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า คณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ได้มีการตั้งขึ้นมาโดยตอนนี้เป็นการติดต่อกับผู้ใหญ่เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์และผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา หลายท่านให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และที่มาของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น เป็นการส่งลูกมาจากจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถ้าเราปฏิเสธไม่รับมาก็เหมือนกับการมองข้ามความสำคัญของการแก้ไข เราต้องทำการเมืองให้การเมืองในระบอบรัฐสภามีความมั่นคงและไม่มีปัญหามากเกินไปจนเกิดความรุนแรงและการประทุษร้าย
ชวน กล่าวต่อว่า การจะเชิญบุคคลใดมาเป็นกรรมการนั้นไม่ได้ง่าย เพราะผู้ใหญ่ที่ตนคุยด้วยไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ แต่พวกท่านเห็นด้วยกับการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งรายละเอียดต้องหารือกันอีกครั้ง
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาร่วมด้วย ชวน กล่าวว่า ต้องเอาความสมัครใจ อย่างกรณีที่ตนเชิญสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน มาคุยก่อนหน้านี้ เนื่องจากตอนนั้นฝ่ายค้านประกาศก่อนว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย จึงขอคำยืนยันจากสุทิน ซึ่งสุทินบอกว่าขอดูแนวทางก่อน แต่วันนั้นเรื่องใหญ่ คือ ความเห็นของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาให้ความเห็นในทางที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ลดลงไปมาก
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้เห็นภาพของประธานสภาฯ ไปพบกับกลุ่มเยาวชนเพื่อให้เข้ามาร่วมกระบวนการสมานฉันท์ ชวนกล่าวว่า คิดว่าใครที่เต็มใจก็จะไปคุยด้วย แต่สมมติถ้าเรามีคณะกรรมการแล้วจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ตนมีหน้าที่ดูว่าจะเอารูปแบบอะไร จะคัดใครเข้ามาควรเอาคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นที่ตนไปเป็นประธานเอง
เมื่อถามถึงการหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นได้หารือครบทุกคนหรือไม่ ชวน กล่าวว่า ยังติดต่อสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ไม่ได้ ซึ่งตนตั้งใจจะพูดกับทุกคน แม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะอดีตนายกฯ ก็จะไปกราบเรียนในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่เช่นกัน แต่สำหรับธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ นั้นต้องดูก่อนว่าสุขภาพท่านไหวหรือไม่ แต่จะลองไปสอบถามดูก่อนเพราะรู้จักกับครอบครัวของท่าน
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การเดินสายหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกฯเท่านั้น แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาด้วย ขณะเดียวกัน การจะมีคู่ขัดแย้งเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งตอนนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย ทั้งนี้เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์มาร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน
อย่างไรก็ตาม ชวน ระบุว่า การไปหารือกับประธานองคมนตรีตั้งใจจะไปพูดคุยในฐานะ ที่ท่านมีประสบการณ์ และในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง