ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล’ เรียกร้องรัฐบาลปรับ ครม. หลัง 2 รัฐมนตรีถูกชี้มูลความผิด ขณะ ชี้ตั้งงบฯ ‘ประชารัฐสวัสดิการ’ ไม่พอ แถมส่อทุจริต ยืนยัน ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ตอบโจทย์กว่า

กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวประจำสัปดาห์ของพรรคก้าวไกล เรียกร้องรัฐบาลปรับ ครม. หลังมีเหตุรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลสองคนถูกชี้มูลความผิด โดยเฉพาะกรณีพ่อ รมช.ศึกษาฯ รุกป่าเขาใหญ่ที่กำลังจะหมดอายุความลงในอีกเพียงหนึ่งวันข้างหน้า

กรุณพล ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน มีรัฐมนตรีจากพรรคร่วมสองคนถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นั่นคือกรณี กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และกรณีนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจากกรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ 50 ล้านบาทแก่เอกชนเพื่อเป็นค่าซ่อมรถบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน ในครั้งที่นายนิพนธ์เป็นนายก อบจ.สงขลา ซึ่งต่อมา อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มีคำสั่งปลดนายนิพนธ์ออกจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ด้วย

กรุณพล กล่าวว่า แม้ในทั้งสองกรณีจะยังไม่มีคำสั่งศาลให้พ้นจากหน้าที่ แต่นายกรัฐมนตรีควรตระหนักได้ในสิ่งที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนว่าจะปราบปรามการทุจริต การยอมให้มีรัฐมนตรีที่มีความบกพร่องมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญให้คุณให้โทษได้ย่อมไม่เป็นผลดี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและหลักธรรมาภิบาล จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะธำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและความถูกต้อง โดยไม่อุ้มชูบุคลากรที่มีปัญหาเพียงเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อขาเก้าอี้ของตนเองหรือเสถียรภาพของรัฐบาล

“ที่สำคัญ คือคดีความในกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่กำลังจะหมดอายุความในอีกหนึ่งวันข้างหน้านี้แล้ว จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการปล่อยปะจนขาดอายุความหรือไม่ เพราะขนาดน้องๆ นักเคลื่อนไหวที่คดีความเบาบาง ตำรวจยังสามารถตามไปอุ้มถึงทุกที่ได้ แต่กรณีที่มีการเอาทรัพยากรของประเทศมาเป็นของตัวเอง กลับมีการปล่อยคดีความจนอีกเหลืออีกแค่ 1 วันจะหมดอายุความ อย่าทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศถูกตั้งคำถามไปมากกว่านี้เลย” กรุณพล ระบุ


ชี้ตั้งงบฯ ‘ประชารัฐสวัสดิการ’ ไม่พอ แถมส่อทุจริต

กรุณพล ตั้งคำถามถึงงบประชารัฐสวัสดิการที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและส่อมีการทุจริต พร้อมย้ำว่าการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะสามารถตอบโจทย์ของประชาชนได้มากกว่าและไม่สิ้นเปลืองงบฯ ในส่วนของค่าดำเนินการ

กรุณพล ระบุว่า ในส่วนของความคืบหน้าการพิจารณางบประมาณปี 2566 ในวาระที่ 2 ของชั้นกรรมาธิการ ในช่วงสัปดาห์แรกของการพิจารณาที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการครบทุกหน่วยงานแล้ว ประเด็นที่พรรคก้าวไกลมีข้อกังวล คือการจัดสรรงบประมาณกองทุนประชารัฐสวัสดิการ เนื่องจากเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่น่าจะเพียงพอ

ในร่างงบประมาณปี 2566 งบประมาณในส่วนนี้มีการเพิ่มขึ้นเพียง 18% จาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันก็กำลังจะมีการขยายกรอบผู้รับสวัสดิการจาก 13.36 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

ยังไม่นับว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรับลงทะเบียนใหม่และการตรวจสอบสิทธิ รวมทั้งค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งงบประมาณที่อยู่ในแผนไม่น่าจะเพียงพอต่อการจัดการ ซึ่งทางผู้ชี้แจงระบุว่าหากงบประมาณไม่เพียงพอจริง ก็ต้องนำงบกลางมาจัดสรร ทำให้พรรคก้าวไกลต้องตั้งคำถาม ว่าเมื่อรู้อยู่แล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ เหตุใดจึงไม่จัดสรรให้เพียงพอแต่แรก แต่กลับไปหวังนำงบกลางที่ต้องใช้เมื่อยามจำเป็นฉุกเฉิน และตรวจสอบได้ยากหรือไม่ได้เลยมาใช้แทน

ข้อกังวลที่สอง คือกรณีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ที่ผ่านมา สตง. มีการสุ่มตรวจผู้ถือบัตร 596 ราย จาก 13 กว่าล้านราย พบว่ามีถึง 350 รายหรือ 58.72% ของการสุ่ม เป็นการใช้บัตรของผู้เสียชีวิตไปแล้ว และยังมีการใช้จ่ายในร้านค้าบางแห่งซ้ำกันจนผิดสังเกต เช่น มีกรณีการซื้อแก๊สหุงต้มในร้านเดียวกันถึง 789 ครั้งในยามวิกาล โดยอาศัยการสวมสิทธิของผู้เสียชีวิตเป็นต้น

ดังนั้น สมาชิกกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ได้พิจารณาแล้วเห็นว่างบประมาณในส่วนนี้ยังมีปัญหาอยู่ และยืนยันว่าการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าอาจตอบโจทย์มากกว่าการจัดแบบเจาะจงที่ช่วยแต่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการตรวจสอบ มีความยุ่งยาก และอาจมีการสวมสิทธิเกิดขึ้นได้

“ในยุคที่มีความผันผวนไม่แน่นอนสูง การให้แบบเจาะจงอาจทำให้คนตกหล่น เนื่องจากเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ทำให้ปัญหาสังคมไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน งบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการก็สูง เช่นการจัดการเอกสาร ที่ต้องใช้งบฯ สูงถึง 500 ล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าอย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอแทน เราจะสามารถนำเงิน 500 ล้านบาทนี้มาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงได้” กรุณพล กล่าว

กรุณพล ระบุว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมกรรมาธิการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกกรรมาธิการได้อภิปรายสนับสนุน เรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนและสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณจากภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังมีการถกเถียงในกรรมาธิการอย่างกว้างขวางจากทั้งสองฝ่าย เช่น มีความกังวลว่าอาจถูกฟ้องร้อง หรือการเกิดความลับรั่วไหล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยืนยันว่ามีแต่การถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ร่วมติดตามเท่านั้น ที่จะสามารถทำให้การพิจารณางบประมาณเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และจะยังคงเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดการพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการ ทั้งในปีนี้และปีต่อๆ ไปต่อไป