ไทยก้าวไม่ข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลางมากว่า 20 ปี และสาเหตุของปัญหานี้ไม่ใช่เพราะการขาดบริษัทที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขัน
ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น 'บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)' ที่มีรายได้รวมในปี 2561 สูงกว่า 527,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 20,929 ล้านบาท มี 'บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)' ที่มีกำไรสุทธิ 11,200 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin หรือ อัตราส่วนกำไรต่อยอดขาย) สูงถึงร้อยละ 29.78
ปัญหาที่แท้จริงตามงานวิจัยล่าสุดจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในชื่อ 'มองโครงสร้างภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลงบการเงิน' คือการมีบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ในตลาดการค้า
เล็กไป-ไม่มั่นใจ-ไม่ให้กู้
'อาชว์ ปวีณวัฒน์' หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยชิ้นดังกล่าว อธิบายว่า เมื่อนำข้อมูลงบการเงินของบริษัทกว่า 750,000 แห่ง ในประเทศไทย มาแบ่งแยกออกเป็น 20 กลุ่ม โดยไล่จากกลุ่มที่มีรายรับน้อยที่สุดในอันดับ 1 ไปยังกลุ่มที่มีรายรับมากที่สุดในอันดับที่ 20 พบว่า บริษัทที่มีรายรับสูงที่สุดร้อยละ 5 ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ถึงร้อยละ 85 ของรายได้ทุกบริษัทรวมกัน
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ยังพบว่า บริษัทที่มีรายรับสูงมีระดับการกู้ยืมสูงเช่นเดียวกัน แต่บริษัทเหล่านี้กลับมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่ำ ขณะที่บริษัทที่มีรายรับในระดับกลางกลับมีสัดส่วนการกู้ยืมต่ำ ทั้งๆ ที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูง
'อาชว์' อธิบายว่า ความสัมพันธ์ข้างต้นอาจสรุปได้ในมิติหนึ่งว่า บริษัทที่มีรายรับสูงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าบริษัทที่มีรายรับต่ำ ซึ่งทำให้บริษัทในระดับกลางๆ เผชิญกับความยากลำบากในการพัฒนาธุรกิจของตน
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าบริษัทระดับกลางเหล่านั้นทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงจึงจำเป็นต้องให้ผลตอบแทนที่สูง และเป็นเรื่องปกติที่สถาบันการเงินจะพิจารณาให้สินเชื่อน้อย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า บริษัทที่มีขนาดเล็กต้องรับมือกับการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ลำบากกว่า เพราะจำนวนวันที่บริษัทขนาดเล็กต้องแบกระหว่างการขายสินค้าหรือบริการจนถึงวันที่ได้รับเงินนั้นยาวนานกว่าบริษัทขนาดใหญ่ถึง 4 เดือน
อำนาจล้นฟ้า-พัฒนาทีหลัง
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา วงการธุรกิจไทยเริ่มเดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของอำนาจตลาดในแต่ละวงการธุรกิจอย่างชัดเจน จากที่แต่ละธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมมีอำนาจทางตลาดที่ใกล้เคียงกัน
คำจำกัดความของการมีอำนาจตลาดสูงโดยย่อจาก 'อาชว์' คือ เมื่อบริษัทหนึ่งๆ มีอำนาจตลาดสูง หมายความว่าบริษัทนั้นมีสัดส่วนกำไรสูง ไม่ว่าจะมาจากการกดราคารับซื้อวัตถุดิบหรือการขึ้นราคาสินค้า
นอกจากประชาชนต้องรับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น วงการธุรกิจก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะนี้เช่นเดียวกัน งานวิจัยชี้ว่า เมื่อบริษัทหนึ่งๆ มีอำนาจตลาดสูง จะทำให้บริษัทนั้นขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนาสินค้า เนื่องจากไม่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดัน ทำให้ภาคธุรกิจไม่เกิดการพัฒนา
หากเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดกลางที่มีอำนาจตลาดไม่มากนัก บริษัทรายได้สูงจะมีสัดส่วนการพัฒนาสินค้าและบริการต่ำกว่าบริษัทขนาดกลางถึงร้อยละ 6
โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุดร้อยละ 5 แรกของประเทศ อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และการผลิตอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงขึ้นมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การขนส่งทางน้ำ ตัวแทนธุรกิจจัดการเดินทางและธุรกิจจัดนำเที่ยว คลังสินค้า ธุรกิจบันเทิง และภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์
ส่วนธุรกิจที่มีอำนาจตลาดลดลง ได้แก่ โทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมบริการสารสนเทศ และร้านอาหาร
บริษัทซอมบี้ดูดเลือด ไม่โต แต่ไม่ตาย แถมถ่วงการเติบโตของอุตสาหกรรม
ยิ่งไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะไปรอด ซึ่งก็เป็นวัฏจักรปกติที่ 'คนแพ้ก็ต้องตายไป' อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น บริษัทที่ควรจะตายเหล่านี้กลับไม่ตายและยังลอยหน้าลอยตาแบบ 'บริษัทผีดิบ' อยู่อย่างนั้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พลวัตธุรกิจของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลทำให้อายุเฉลี่ยของบริษัทไทยเพิ่มขึ้น และพบว่าการมีอยู่ของบริษัทผีดิบ (zombie firms) หรือบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรได้ ซึ่งควรจะต้องออกจากตลาดไป แต่กลับอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจได้ มีความสัมพันธ์กับพลวัตธุรกิจ โดยสัดส่วนของบริษัทผีดิบที่สูงในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ มีความสัมพันธ์กับการลงทุนที่ต่ำของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมนั้น และโอกาสที่ลดลงในการที่บริษัทใหม่ ๆ จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้นด้วย
สถานการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่ผลิตภาพต่ำ โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบสูง ได้แก่ การก่อสร้าง โรงแรม กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมผลิตโลหะพื้นฐาน และการศึกษา
ส่วนคำจำกัดความของ 'บริษัทผีดิบ' ในเชิงรูปธรรมคือ 'บริษัทที่เปิดกิจการมาเป็นเวลาอย่างต่ำ 10 ปี และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ย 3 ปีขึ้นไป'
สิ่งที่บริษัทผีดิบเหล่านี้ส่งผลร้ายกับธุรกิจโดยรวมคือการขัดขวางวงจรการเกิดของบริษัทใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่สนามการแข่งขันและยังลดทรัพยากรในการผลิตด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญหน้ากับ 'บริษัทผีดิบ' ประมาณร้อยละ 5 จากมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทไทยทั่วประเทศ
จากการศึกษา คณะผู้วิจัยจึงสรุปถึงนัยเชิงนโยบาย 3 ประการ กล่าวคือ
หนึ่ง บริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่ง มีสัดส่วนสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง สะท้อนถึงการที่บริษัทเหล่านี้อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงหรือมีข้อจำกัดด้านสินเชื่อ นโยบายที่ช่วยให้บริษัทในกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำ ชี้ให้เห็นปัญหาผลิตภาพของบริษัทกลุ่มนี้ ในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของบริษัทควบคู่ไปด้วย
สอง อำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัททั่วไป และอำนาจตลาดส่งผลทางลบต่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร โดยทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขาดแรงจูงใจและความสามารถในการส่งออก ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลด้านการแข่งขัน ควรที่จะนำมิติด้านโครงสร้างความเป็นเจ้าของมาพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายด้วย
สาม พลวัตธุรกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการมีอยู่ของบริษัทผีดิบส่งผลทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดและกระทบต่อการเติบโตของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน นโยบายที่ทำให้บริษัทเก่าที่ไม่สามารถทำกำไรได้ออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย เช่นกรณีของต่างประเทศ หรือนโยบายที่ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตั้งบริษัทใหม่ จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น จะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้น และลดอำนาจตลาดของบริษัทได้
ถึงตรงนี้อาจไม่ใช่คำถามว่า รัฐบาลควรทำอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กและรายกลางเพราะชัดเจนว่ารัฐบาลควรทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คำถามสำคัญจึงควรเป็นทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรสักที