13 ก.ย. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องการประกันราคาพืชผลการเกษตรว่า ขณะนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้แก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที โดยไม่ให้เป็นภาระต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเนื่องจากว่าวันนี้ (13 ก.ย.) เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก จึงยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องการประกันราคาพืชผลการเกษตร แต่หากนายกฯ มีนโยบายอย่างไรในภายหลัง รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
สำหรับแนวทางการพักหนี้เกษตรกร เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลกับพี่น้องเกษตรกร ส่วนนโยบายการพักชำระหนี้จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่นายกฯ เป็นผู้กำกับดูแล อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกันต่อไป
โดยเบื้องต้นได้มีการมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการในการศึกษา และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการพักชำระหนี้ในระยะ 3 ปี ทั้งต้นทั้งดอก โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ
ในรูปของคณะกรรมการ โดยมี ภูมิธรรม เป็นประธาน ในส่วนของกระทรวงเกษรฯ ตนได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้านว่า การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจะมีแผนอย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นการทำเกษตรแปลงใหญ่ในรูปขององค์กรการเกษตร การเพิ่มคุณภาพสินค้าของภาคการเกษตร การเปิดตลาดสู่เศรษฐกิจโลก ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต่อไปกระทรวงเกษตรฯ จะต้องทำงานร่วมกับผู้แทนการค้า โดยมี ‘ทูตเกษตร’ อยู่ในหลายประเทศที่จะต้องเปิดตลาดโลกต่อไป
ส่วนเรื่องการประกาศสงครามกับสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคการเกษตร ทั้งเรื่องภัยพิบัติต่างจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยหลังจากวันนี้จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมฝนหลวง หรือหน่วยงานอื่นๆ ในการหามาตรการในระยะเร่งด่วน ระยะกลางระยะยาว ในการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ส่งผลต่อภัยแล้งหรือว่าอุทกภัย
ส่วนเรื่องของอุปสรรคที่มีผลต่อภาคการเกษตร คือการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายสู่ราชอาณาจักร ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในภาคของปศุสัตว์ ประมง หรือพืชผลพืชไร่ต่างๆ โดยจะมีการปราบปรามอย่างจริงจัง และขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมศุลกากร ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หน่วยของ DSI รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจะมีการตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษในการปราบปรามเรื่องนี้มีการเจรจาและ บังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจังตามลำดับต่อไป
ส่วนกรณีที่กระทรวงเกษตรฯ ถูกจับตามองเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นพิเศษนั้น โดยมองว่าการทุจริตคอรัปชั่นมีอยู่ในทุกกระทรวง แต่กระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตน และรัฐมนตรีช่วยทั้งสองคน คือ ไชยา พรหมมา และ อนุชา นาคาศัย จะมีการตรวจอย่างเข้มงวดอย่างเอาจริงเอาจัง จะทำอย่างไรนั้นถือว่าเป็นความลับที่ตน และหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่การแบ่งงานให้กับทั้งสองรัฐมนตรีช่วยนั้น ขณะนี้ยังไม่แบ่ง เนื่องจากมิติใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งตนและรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ท่าน ถือเป็นพี่น้องกัน โดยจะมีการแบ่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อแบ่งงานกันแล้วรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่านจะไม่สามารถไปขับเคลื่อนในงานอื่นๆภายใต้กระทรวงเกษตรๆได้ แต่เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำงานกันแบบเน้นบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งให้กับกระทรวงเกษตรฯ
สำหรับผลงานชิ้นโบว์แดง ของกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การกำกับดูแลของตน คือเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากนายกฯ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ดินที่กระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแล นั่นคือการปฏิรูปที่ดิน ด้วยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด ซึ่งจากการศึกษาของพรรคร่วมรัฐบาล ได้วางกรอบทิศทางเบื้องต้น ว่าโฉนดที่เปลี่ยนนี้จะต้องเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร แต่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนเข้าถึงสถาบันการเงินได้ มีมูลค่าเทียบเท่ากับโฉนดของกระทรวงมหาดไทย
เบื้องต้นจะเป็นการศึกษาข้อกฎหมาย ซึ่งพื้นที่ สปก.ทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณกว่า 40 ล้านไร่ ที่ 30 ล้านไร่สามารถทำได้เลยทันที ส่วนพื้นที่อีก 10 ล้านไร่ที่ได้รับส่งมอบจากกรมอุทยาน-กรมป่าไม้ที่เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมยังอยู่ในการกำกับดูแลของ ส.ป.ก. เช่นเดิม ส่วนกรอบเวลาในการดำเนินการขอไปศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่จะได้ดำเนินการในทันที