วันที่ 20 ก.ค. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) ลุกกล่าวชี้แจงหลังการอภิปรายฯ ว่า ข้อมูลการอภิปรายครั้งนี้มาจากการมโนคิดเองทั้งนั้น และเป็นข้อมูลเก่า รายชื่อที่ผู้อภิปรายกล่าวอ้างมาทั้งหมด ตนเองไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวและขอให้ผู้อภิปรายรับผิดชอบ จึงขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น
สำหรับกรณีเรื่องการไม่ชำระค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์นั้น เป็นการจัดซื้อก่อนตนเข้าไปเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ในวันที่ 5 ก.พ.2557 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ส่งหนังสือมาถึง อบจ.สงขลาว่ามีการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสและให้ระงับการจ่ายเงิน จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่ง จากนั้นรองนายก อบจ.ได้แจ้งให้บริษัทชนะการประมูลทราบถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถึงความโปร่งใส ต่อมา บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้ฟ้องศาลปกครองกลาง ผลการสอบของคณะกรรมการพบว่าเกิดความไม่โปร่งใส ตนเองจึงได้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทราบ
ในปีเดียวกัน ผู้ว่าฯ สงขลา แจ้งกลับมาว่า ต้องปฏิบัติหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีข้อพิพาทในศาล ห้ามไม่ให้ผู้บริหารดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ตนจึงต้องดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล จึงจำเป็นต้องรอให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดก่อน
"ดังนั้น สาเหตุที่ อบจ.สงขลาไม่จ่ายเงิน เนื่องจากการซื้อขายไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะมีการฮั้วประมูล ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหาตนเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ยอมจ่ายเงินนั้น ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เพราะเห็นว่าเมื่อปลัดอบจ.สงขลาในฐานะรับมอบอำนาจอนุมัติสั่งการ ลงนามสัญญาซื้อขายในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไปลงนามรับรถแทนนายกอบจ.ถึง 51 ล้านบาท จึงเป็นการตรวจสอบมิชอบ ดังนั้น การชะลอการจ่ายเงินจึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและภาษีของประชาชน" นิพนธ์ กล่าว
นิพนธ์ ชี้แจงต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งไม่สั่งคดีอาญาในคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหาตนเอง เพราะมีข้อไม่สมบูรณ์ และมีคำสั่งคืนสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 และขณะนี้ได้ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ให้พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา และแม้จะมีกรณีที่มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่และขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ขั่วคราว แต่ศาลคำสั่งว่าผู้ถูกร้อง คือ ตน ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง
"พวกท่านมาโวยวายว่า ทำไมผมยังไม่หยุดปฎิบัติหน้าที่ ก็หวังว่าเมื่อผมเอาหลักฐานมาแสดงแบบนี้แล้วน่าจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเสียที และคดีที่ถูกฟ้องในชั้นศาลปกครองให้ อบจ.ต้องชำระค่าดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นั้น ขณะนี้ อบจ.สงขลาได้ส่งคำร้องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ดังนั้น สรุปข้อกล่าวหาของพวกท่านต้องเลิกได้แล้ว" นิพนธ์ กล่าว
สำหรับนโยบายการให้ต่างชาติถือครองที่ดิน ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อปี 2542 และมีกฎกระทวงมหาดไทยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีเงินลงทุน 40 ล้านยาทและต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และการถือครองที่ดินทำได้เฉพาะเพื่อการอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น ใช้บังคับมาถึงปัจจุบันมีคนต่างชาติใช้สิทธิเพียง 10 ราย บางรายขายคืน บางรายได้สัญชาติไทยแล้ว จึงเหลือผู้มีสิทธิเพียง 8 รายเท่านั้นในปัจจุบัน
"มาถึงวันนี้ประเทศเราเจอวิกฤติโควิดและต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศ จึงแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อลดให้ระยะเวลาการลงทุนเหลือเพียง 3 ปีเท่านั้น และกำหนดให้เฉพาะคน4กลุ่มเท่านั้น ได้แก่ 1.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 2.ผู้มีความมั่งคั่งสูง 3.ผู้ต้องการทำงานในประเทศไทย และ 4.ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ กระทรวงมหาดไทยแก้ไขแค่ตรงนี้ที่เหลือเป็นไปตามกฎหมายเดิมทั้งหมด จึงไม่มีการขายชาติใดๆทั้งสิ้น" นิพนธ์ กล่าว