25 ก.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา อดิศร เพียงเกษ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมวิปรัฐบาลในวันนี้ว่า เป็นไปตามวาระปกติ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไปทาง ครม. แล้วว่าฝ่ายกฎหมายของทุกกระทรวง ทบวง กรม ควรจะได้มีการเสนอกฎหมายมายังสภาฯ รวมถึงกฎหมายสำคัญๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชามติ ควรจะได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะที่เข้าใจง่าย
"คณะรัฐมนตรีถือเป็นการนับหนึ่ง ทางวิปรัฐบาล นับสอง จึงต้องทำให้เข้าใจง่าย และทำให้การประชุมมีรสชาติ"
นอกจากนี้ ในที่ประชุมวิปรัฐบาลยังจะพิจารณาบุคคลไปเป็นคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 5 คน ซึ่งวิปรัฐบาลพร้อมแล้วรอเพียงฝ่ายค้าน
"ท่านกลับจากสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นหรือยัง อยากให้ฝ่ายค้านรีบส่งตัวแทน 5 คนมาเป็นคณะกรรมการประสานงานฯ เช่นกัน เพื่อให้การประสานงานของทั้ง 2 ฝ่ายได้ดำเนินการต่อไป ส่วนพรรคก้าวไกล จะเลือกผู้นำฝ่ายค้านหรือรองประธานสภาคนที่ 1 ขอให้แจ้งวิป รัฐบาลทราบด้วย อย่าให้เรามโนเอา" อดิศร กล่าว
อดิศร ยังย้ำว่า พรรคก้าวไกลต้องเลือกว่าจะเอาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จะเลือกไว้ทั้งสองไม่ได้ ยกเว้นจะเล่นปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพราง
"ผมส่งความปรารถนาดี ผมเสียดาย ปดิพัทธ์ เวลาขึ้นบัลลังก์ท่านก็ทำงานได้ดี ขณะเดียวกันผมก็อยากได้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เพราะบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านเป็นบทบาทที่มีสาระสำคัญของชาติบ้านเมือง และยินดีต้อนรับ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งทราบว่าจะมีการเจรจากับ ปดิพัทธ์ ในสัปดาห์นี้ ก็ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จทั้งสองคน แต่คงต้องมีคนผิดหวัง 1 คน" อดิศร กล่าว
ทั้งนี้ หากมีการขับ ปดิพัทธ์ ออกจากพรรคก้าวไกล เพื่อให้คงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 ไว้ ทางวิปรัฐบาลจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ อดิศร กล่าวว่า เราจะไม่แทรกแซง เพราะตัวเองก็เป็นคนเลือก ปดิพัทธ์ มาเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 ดังนั้น เราจะไม่ตีความคนที่เราเลือกไป และยังเคารพเสียงตอนที่เลือก ปดิพัทธ์ ว่าเป็นเสียงที่สง่างาม
"ตอนนี้เราอย่าไปแทรกแซง เพราะหายใจอะไรออกไป เขาก็ต่อว่าเรา ไม่ว่าจะหายใจผิดหรือหายใจถูก"
พร้อมกันนี้ อดิศร ยังรับหนังสือ จาก นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่มายื่นร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเคยยื่นไปในสมัยประชุมที่แล้วก่อนที่จะยุบสภา จึงมายื่นให้ทางวิปรัฐบาลยื่นต่อสภาฯ เพื่อดำเนินการต่ออีกครั้ง โดยมีเนื้อหานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา ยกเว้นคดีทุจริตและคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112