วันที่ 15 มิ.ย. 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ในวาระที่สอง ขั้นเรียงลำดับรายมาตรา โดยพิจารณาต่อเนื่องในมาตรา 17 ซึ่งกรรมาธิการแก้ไข ให้เพิ่มสิทธิข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย สามารถเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิได้ โดยระบุถ้อยคำว่า ให้ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ซึ่งตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับหมู่หรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือก
อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็น ระบุว่า ในการแก้ไขมาตราดังกล่าว มีความพยายามที่จะแก้ให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมที่รัฐสภาเคยรับหลักการ
ทำให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมาธิการในขณะนั้น ชี้แจงก่อนการลงมติ 2 ประเด็น กรรมาธิการเสียงข้างมากเพิ่มถ้อยคำ 2 จุด ในมาตรา 17 คือ กรรมการข้าราชการตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราอื่นๆ และไม่ซ้ำซ้อนกับกรรมการตำรวจนโยบายแห่งชาติ และ ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ที่ขยายสิทธิเป็นผู้เลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้ว่า หากลงมติกลับสู่ร่างเดิม ถ้อยคำดังกล่าวจะหายไปและสร้างผลกระทบ ดังนั้นต้องหาทางว่าจะให้คำ 2 คำอยู่ในร่างมาตรา 17 ส่วนการลงมติอย่างไรขึ้นอยู่กับสมาชิกฯ
ด้าน ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายว่า เสียใจกับตำรวจชั้นประทวน ที่ตนเสนอแก้ไขให้ตำรวจชั้นประทวนที่มีอยู่ 2.1 แสนนาย ได้มีสิทธิเลือกตั้ง ก.ตร.ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และให้ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เกิดความผูกพัน แต่การลงมติของที่ประชุมในวันนี้กลับเป็นการด้อยค่าตำรวจชั้นประทวนเหล่านั้น ตนจะสืบให้ทราบด้วยตนเองว่าใครเป็นผู้เห็นด้วยให้คนจำนวนน้อยเป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร.
ขณะที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความสงสัยที่กรรมาธิการเพิ่มถ้อยคำในมาตรา 17 ที่ในกรณีที่มีการโหวตกลับไปร่างเดิม จะทำให้ถ้อยคำดังกล่าวหายไป จึงตั้งข้อสังเกตว่า คล้ายกับจะรู้อยู่แล้วว่าการลงมติจะนำไปสู่การกลับไปร่างเดิม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะถือว่ากระบวนการตรากฏหมายนี้ผิดทั้งหมด และกรรมาธิการเสียงข้างมากจะพลิกมติไปมาอย่างไรก็ได้ เท่ากับโกหกตบตาข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยทั้งประเทศ
เมื่อมีการลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 255 เสียงต่อ 147 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ และให้กลับไปใช้ตามเนื้อหาเดิม และงดออกเสียง 6 เสียง
ทำให้ สาทิตย์ ตั้งข้อสงสัยอีกครั้งว่า เมื่อมีการแก้กลับไปสู่ร่างเดิม ถ้อยคำจะเหลือแค่ กรรมการ คำเดียว จะเกิดปัญหาในช่วงการใช้กฏหมาย เพราะมีความสับสนในนิยาม โดย พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น ได้วินิจฉัยว่า เป็นหน้าที่กรรมาธิการจะต้องไปปรับแก้ไขเอง ตนไม่สามารถชี้นำรัฐสภาได้
จากนั้น พรเพชร ได้ตัดบทและให้ดำเนินการพิจารณาในมาตรา 18 ต่อไป โดยระบุว่า มาตรา 18 มีการแก้ไข และจะกระทบกับมาตรา 17 จึงขอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร
แต่ก่อนจะเข้าสู่การอภิปราย ขจิตร ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ไม่ขออภิปรายตามที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา 18 และขอประกาศว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนครบวันนี้ ขออนุญาตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และวิป ไม่ร่วมสังฆกรรมกับการประชุมนี้ ที่บิดเบี้ยวทำให้เกิดปัญหาหลายประการ มติที่ผ่านไปในมาตรา 17 สะท้อนว่าอำนาจเผด็จการครอบงำรัฐสภาแห่งนี้ ก่อนที่ ขจิตร จะเดินออกจากห้องประชุม
จากนั้น พรเพชร ได้สั่งพักประชุม เพราะมองว่ากรรมาธิการควรพิจารณาแก้ไข เนื่องจากมีประเด็นที่คาดไม่ถึง และกระทบกับมาตรา 18 เนื่องจากมีข้อความเชื่อมโยงกับมาตรา 17 จึงสั่งพักการประชุม 10 นาที
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาต่อเนื่องจนแล้วเสร็จถึงมาตรา 67 โดยในมาตรา 68 มีการแก้ไข วิปทั้ง 3 ฝ่าย จึงส่งหนังสือแจ้งประธานฯ ว่าขอให้มีการปิดประชุม เพื่อพิจารณาที่เหลือต่อในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ จากนั้นประธานฯ จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 19.10 น.