ไม่พบผลการค้นหา
นพดล ปัทมะ แถลงผลการประชุมคณะ กมธ. ที่ได้พิจารณาเรื่อง แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ และสถานการณ์ในเมียนมา

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้พิจารณาศึกษาเรื่อง แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ และสถานการณ์ ในเมียนมา มาโดยตลอด และได้มีการจัดทำรายงานผลการศึกษาเรื่อง แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ และสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กมธ. ห่วงใยและติดตามปัญหาการสู้รบในเมียนมา และผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และคนอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น กมธ. ขอแถลงดังนี้

๑) สถานการณ์ในเมียนมา

กมธ. ติดตามห่วงใยสถานการณ์สู้รบซึ่งยังไม่ยุติ และย้ำข้อเสนอในการสร้างสันติภาพและเอกภาพในเมียนมาอย่างยั่งยืนและเร่งด่วน ซึ่งไทยควรเป็นผู้นำร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในเมียนมา

๒) ประเด็นแรงงานเมียนมา ภายหลังจากรับฟังภาคเอกชน เอ็นจีโอและหน่วยงานภาครัฐ กมธ.ขอประมวล ข้อเรียกร้องจากภาคส่วนเหล่านั้นและถ้าสามารถดำเนินการได้ตาม กฎหมาย ขอรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ โปรดพิจารณาภายใต้กรอบของกฎหมายดังนี้

๒.๑ กลุ่มที่เข้าเมืองแบบไม่ถูกต้องหรือการอยู่อาศัยสิ้นสุดลง ผ่อนผันให้จดทะเบียนเพื่อขออนุญาตให้อยู่และทำงาน ในประเทศไทยชั่วคราว ๒ ปี ผ่านศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องการมีหนังสือเดินทางและตรวจลงตราวีซ่าชั่วคราว ๒ ปี)

๒.๒ กลุ่มแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่ใบอนุญาตจะหมดอายุลงในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ซึ่งมีแรงงานสัญชาติเมียนมามากถึง ๒,๐๒๖,๘๓๓ คน เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ดำเนินการปรับสถานะให้เป็นแรงงานนำเข้าตามระบบ MOU โดยสามารถใช้บัตรสีชมพูเป็นหลักฐานยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงาน ได้

๒.๓ กลุ่ม MOU ครบ ๔ ปี ผ่อนผันขออยู่ต่อและต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยอีก ๒ ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปประเทศตนโดยใช้หลักฐานหนังสือเดินทางเดิมและใบอนุญาตทำงานเดิมมาเป็นหลักฐานในการแสดงเพื่อขอต่ออายุในประเทศไทย (ยกเว้นเงื่อนไขเรื่องการมีหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราวีซ่าชั่วคราว ๒ ปี) 

๒.๔ กลุ่มจ้างงานชายแดน ให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่จ้างงานพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา มารายงานตัวและจัดทำทะเบียนประวัติที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ ผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างน้อย ๑ ปี และพิจารณาต่อได้ครั้งละ ๑ ปี โดยในกรณีที่เคยมีบัตรผ่านแดนและใบอนุญาตทำงานมาก่อนให้นำมาเป็นหลักฐานด้วย 

กมธ. เน้นย้ำว่า การดำเนินการตามข้อ ๒.๑ ถึง ๒.๔ พึงคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง อีกทั้งต้องดำเนินการเท่าที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

๓) มาตรการการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนในเมียนมา

กมธ. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและอาเซียน เพิ่มการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบให้มากขึ้น โดยใช้กลไกคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่อง มาจากความไม่สงบในเมียนมา เพื่อให้ การช่วยเหลือถึงมือประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเท่าเทียม นอกจากนั้น ควรเพิ่มบทบาทองค์กรเอกชนและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งควรเปิดรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากทุกภาคส่วนไปยังผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว