ในปีงบประมาณหน้า โตเกียวจะเริ่มการวางระบบเพื่อรองรับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี โคอิเกะยังไม่ได้ระบุในรายละเอียดว่ารัฐบาลท้องถิ่นประจำกรุงโตเกียวจะมอบสถานะทางกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบให้แก่คู่ชีวิตเพศเดียวกันในลักษณะใด โดยรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นจะถูกแถลงในอนาคต
ทั้งนี้ ถ้าหากโตเกียวรองรับระบบคู่ชีวิตเพศเดียวกันแล้ว ประชากรกว่าครึ่งของญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ จะมีระบบจากทางภาครัฐของโตเกียวที่รองรับสถานะของคู่รักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่มสมาชิก G7 ที่ยังไม่มีการรับรองการสมรสเท่าเทียมตามกฎหมาย
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะยังคงเป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ผลสำรวจของ NHK ที่ผ่านมาพบว่า 57 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสำรวจ เห็นว่าญี่ปุ่นควรมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม อย่างไรก็ดี รัฐบาลของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) แทบจะไม่ได้กระตือรือร้นต่อการแก้ไขกฎหมายการสมรสที่มีอยู่ หรือการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมแก่รัฐสภาญี่ปุ่น
“นี่คือก้าวครั้งสำคัญของญี่ปุ่น” ยานากิซาวะ มาซะ นักรณรงค์สิทธิสมรสเท่าเทียมในญี่ปุ่นระบุ “หวังว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปรากฏการณ์โดมิโนที่จะส่งผลไปยังรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ” อย่างไรก็ดี ยานากิซาวะระบุว่าการสร้างระบบรองรับคู่ชีวิตเพศเดียวกันจะยังคงไม่ครอบคลุมสิทธิในการสืบทอดมรดก และการเข้าถึงบริการของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประเทศของพวกเขายังไม่เข้าถึงความเท่าเทียมทางเพศของคน ‘ทุกเพศ’
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลแขวงซัปโปโรของญี่ปุ่นตัดสินว่า การแบนการสมรสเพศเดียวกันนั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น หลังจากรัฐธรรมนูญระบุว่าการสมรสจะกระทำขึ้นได้ด้วย “ความเห็นพ้องต้องใจระหว่างคนทั้งสองเพศ” ทำให้เกิดการตีความว่านิยามของกฎหมายไม่ได้มีการระบุถึงเพศชายหรือหญิง ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวอ้างว่า ในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่รัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นนั้น ญี่ปุ่นยังไม่มีนิยามการสมรสในเพศเดียวกัน
จนเมื่อการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ผ่านมาล่าสุด โตเกียวพยายามนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นธีมหลักของงาน ในฐานะที่โตเกียวได้เป็นเจ้าภาพงานแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติ ในทางกลับกัน รัฐบาลภายใต้การนำของ คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังคงไม่ได้นำประเด็นการสมรสเท่าเทียมขึ้นถกเถียงอย่างชัดเจนแต่อย่างใด
ยังไม่แน่ชัดว่าอนาคตของการสมรสในเพศเดียวกันจะเกิดในญี่ปุ่นเมื่อใด ปัจจุบัน เอเชียมีรัฐเดียวที่ให้การรับรองการสมรสในเพศเดียวกัน คือ ไต้หวัน ในขณะที่ Human Rights Campaign ระบุว่า เอเชียยังคงเป็นทวีปที่ขาดการให้ความสำคัญต่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เช่นเดียวกันกับไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งตีความว่ากฎหมายสมรสเดิมที่อนุญาตให้มีการสมรสเฉพาะชายและหญิงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ที่มา: