ที่ประชุมสภาดูมาของรัสเซียลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะพิจารณายกเลิกข้อจำกัดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งจะเปิดทางให้ 'วลาดิเมียร์ ปูติน' ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน วัย 67 ปี มีโอกาสอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 2 สมัย ถ้าเขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญรัสเซียกำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะอยู่ในวาระติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย
ปัจจุบัน ปูตินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา และมีกำหนดสิ้นสุดวาระในปี 2567 หากแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะทำให้เขาสามารถลงสมัครเลือกตั้งครั้งหน้าได้ เท่ากับว่าเขาสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีกอย่างน้อย 16 ปี
แม้สภาดูมาจะลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุมสภาจะต้องส่งเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง จากนั้นจะต้องจัดลงประชามติในวันที่ 22 เม.ย.2563 แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมองว่า การลงประชามติหรือคำวินิจฉัยของศาลไม่น่าจะมีอะไรพลิกโผ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการยื้ออำนาจในครั้งนี้จะทำให้รัสเซียไม่เปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองใดๆ ไปอีกนาน
ส่วนสมาชิกสภาดูมาที่ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 380 เสียง ขณะที่เสียงคัดค้านมี 43 เสียง
ผู้ยื่นเรื่องขอให้สภาดูมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี คือ วาเลนตินา เตเรชโควา สมาชิกสภา สังกัดพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย ซึ่งเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของรัสเซีย โดยเธอให้เห็นเหตุผลว่าต้องการให้ปูตินอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดใดๆ ทางการเมือง
เซอร์เก อูดัลซอฟ นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในรัสเซีย ไม่เห็นด้วยกับมติสภา จึงเผยแพร่แถลงการณ์ผ่านยูทูบ ตั้งคำถามถึงคนในสังคมว่า "เราต้องการปูตินไปตลอดกาลจริงๆ หรือ?" พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติออกเสียง 'ไม่รับ' การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงจุดยืนว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม The New York Times รายงานอ้างอิง 'คอนสแตนติน มาโลฟีฟ' นักลงทุนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปูติน ซึ่งถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีดำในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ประเมินว่าเสียงส่วนใหญ่ในรัสเซียจะต้องลงประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน และเขาเชื่อว่าปูตินจะต้องได้อยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 16 ปี
นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา วลาดิเมียร์ ปูติน อยู่ในแวดวงอำนาจทางการเมืองรัสเซียมาตลอด โดยบลูมเบิร์กระบุว่า เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สลับกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อปี 2555 และอยู่ในตำแหน่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนความนิยมของปูตินและรัฐบาลมีความผันผวนตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในยุคปูตินช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คือ สงครามระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย และการแบ่งแยกดินแดนไครเมีย ซึ่งรัสเซียส่งกองกำลังทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองภายในยูเครน นำไปสู่การลงประชามติหนุนการประกาศอิสรภาพแยกไครเมียออกจากยูเครน แม้นานาประเทศไม่รับรองการแยกตัวครั้งนี้ แต่ถือแสดงถึงอิทธิพลของรัสเซียภายใต้การนำของปูตินที่มีส่วนในการกำหนดสถานการณ์ทางการเมืองโลก
อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ในรัสเซียจำนวนมากรวมตัวคัดค้านรัฐบาลปูตินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อปีที่ผ่านมา เกิดการประท้วงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ เพราะประชาชนไม่พอใจที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงมอสโกปฏิเสธไม่ให้ผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกว่า 10 ราย ลงรับสมัครเลือกตั้ง
นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อกล่าวหาทางอาญาจับกุมเอาผิดแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหลายราย ทำให้ปูตินถูกวิจารณ์ว่าใช้กระบวนการยุติธรรมในการปิดปากฝ่ายตรงข้าม
ที่มา: Bloomberg/ Foreign Policy/ The New York Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: