วันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะก้าวหน้า ร่วมกับ Asean Parliamentarians For Human Rights (APHR) และสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวงสนทนาสาธารณะ ในหัวข้อ 'วิกฤตที่มองไม่เห็น: สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดน ไทย-เมียนมาหลังรัฐประหาร' ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้กล่าวปาฐกถาเปิดวงสนทนา เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยสากล
โดย ธนาธร ยกตัวอย่างสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในหลายประเทศ เช่น ชนกลุ่มน้อยในธิเบตที่ถูกทหารจีนไล่ล่า โรฮิงญาในเมียนมาที่ถูกทหารไทยเรียกค่าไถ่ค้ามนุษย์ ซึ่งสะท้อนความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนร่วมโลก ซึ่งส่วนสำคัญก็มาจากทัศนคติของผู้นำประเทศด้วย
"ผู้นำคนไหนก็ตาม เริ่มพูดว่าชนชาติของเราดีกว่าชนชาติอื่น ศาสนาของเราดีกว่าศาสนาอื่น ชาติของเราดีกว่าชาติอื่น ประวัติศาสตร์ของเราเกรียงไกรกว่าประวัติศาสตร์ของคนอื่น ตระหนักไว้เลยว่าพายุกำลังมา ผู้นำที่พูดแบบนี้ซ้ำๆ ซากๆ กำลังสร้างความเกลียดชัง"
ธนาธร ชี้ว่า ในช่วงเวลาที่สุขสบายไม่เคยวัดอะไรได้ แต่ในเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังยากลำบาก เผชิญกับความทุกข์ขมขื่น เวลานั้นจึงจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าประเทศใดมีความโอบอ้อมอารี ดังจะเห็นได้จากประเทศในแถบยุโรปที่โอบรับชาวยูเครนที่ลี้ภัยสงคราม เป็นความอารีแท้จริงและจับต้องได้ ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรูที่แปะไว้บนวัฒนธรรมของชาติ
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องมองที่ไหนไกล เพราะฝั่งตะวันตกของไทยเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่กลับไม่มีใครตระหนักถึงความทุกข์ที่พรมแดนไทยเลย คือการรัฐประหารของรัฐบาลทหารที่บีบให้ชาวเมียนมาลี้ภัยมาที่ชายแดนไทย แต่กลับถูกทางการไทยผลักออกไป ทุกวันนี้ยังคงต้องอยู่ในป่าตามยถากรรม เข้าไม่ถึงปัจจัยในการดำรงชีพ
ธนาธร ระบุว่า สิ่งที่ประชาชนยังพอทำให้ผู้ลี้ภัยได้ คือการบริจาคทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การรณรงค์ทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลปรับแนวนโยบายโอบรับผู้ต้องการความช่วยเหลือ และปกป้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เกิดสงครามและการแบ่งแยกในอนาคต พร้อมลงท้ายด้วยคำถามว่า เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน เป็นประเทศที่มองเห็นแต่ตัวเอง ไม่สนใจปัญหาในโลกภายนอกหรือไม่ หรืออยากเห็นประเทศไทย ที่คำว่าโอบอ้อมอารีไม่ใช่คำขวัญ แต่มีอยู่จริง