ไม่พบผลการค้นหา
การบินไทย กางแผนฟื้นฟูฯ ลดเที่ยวบิน-ฝูงบิน รวมถึงพนักงาน จาก 3 หมื่น เหลือไม่เกิน 1.5 หมื่นคน ตั้งเป้าลดรายจ่าย 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี ยันไม่ยุบ ‘ไทยสมายล์’ มั่นใจกลับมาทำกำไรปี 2567

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า ตามที่การบินไทยได้ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการไปเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาให้ดำเนินการไปแล้วนั้น ล่าสุดวันนี้ (2 มี.ค. 2564) ได้นำส่งแผนฟื้นฟูฯทั้งหมด 303 หน้า ให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามกำหนดการที่ต้องนำส่งเป็นวันสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวจะดำเนินการ 9 กลยุทธ์ 2 ส่วน หลักๆ คือ การเพิ่มรายได้ และการลดค่าใช้จ่าย

โดยในส่วนของรายละเอียดการเพิ่มรายได้จะดำเนินการ ทั้ง การลดเส้นทางการบิน โดยจะให้ความสำคัญเฉพาะเส้นทางที่มีศักยภาพ และสามารถทำกำไรก่อน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แฟรงก์เฟิร์ต ซูริก รวมถึงลอนดอน ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะเริ่มกลับมาทำการบินเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้จะมีการลดจำนวนเครื่องบินลงจากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 12 แบบ เหลือเพียง 5 แบบ ลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

ส่วนแนวทางลดค่าใช้จ่าย จะเน้นไปที่การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานเป็นหลัก จากเดิมที่มีพนักงานประมาณ 30,000 คน หรือ คิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 23% จะปรับลดลงเหลือประมาณ 13,000-15,000 คน จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวเหลือเพียง 13% ซึ่งจะเพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดการบินได้

ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสายการบินไทยสมายล์ ยืนยันว่า การบินไทยจะยังคงถือหุ้นต่อทั้ง 100% ส่วนครัวการบิน รวมถึงคาร์โก้ จะเพิ่มสัดส่วนให้สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนการแก้ไขหนี้ทั้งหมดตามที่เจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศรวม 36 กลุ่ม ได้ยื่นมายอดรวมประมาณ 4.1 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลหนี้จริงประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ยืนยันว่า จะไม่มีแฮร์คัทหนี้ หรือ การปรับลดมูลหนี้จากเจ้าหนี้ทุกราย แต่จะจ่ายเฉพาะเงินต้นก่อน รวมถึงไม่จ่ายหนี้ใน 3 ปีแรก นอกจากนี้จะขอเพิ่มทุน หรือ กู้เงินเพิ่มประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาทภายใน 2 ปีนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ดำเนินกิจการต่อไปได้  

Ld6.jpg
  • ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

"ภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง การบินไทยก็พร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสามารถสร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืนได้ภายในปี 2567" ชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 จะมีการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อโหวดแผนฟื้นฟูฯทั้งหมด ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้ตั้ง ‘จักรกฤษณ์ พาราพันธกุล’ และ ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ