ไม่พบผลการค้นหา
จากกิจการคนจีนที่ไม่เคยขาดทุน สู่ตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความจนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หลังจากอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กันมาพักใหญ่ๆ หลายคนนอกจากจะกลายเป็นเกษตรกร เป็นนักศึกษา จนไม่ได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ยังต้องเผชิญกับภาวะ “ตังค์หมด อดข้าว เศร้าเพราะไม่รู้อนาคต” ผู้นำจะร่อนจดหมายหาเศรษฐีก็ไม่รู้เขาจะทำอะไรกัน ดังนั้น ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันเอง มีทางไหนต่อชีวิตได้ก็ไป ทำให้ตอนนี้ “โรงรับจำนำ” กลายเป็นทั้งที่พึ่งทางใจทางกาย เอาครกสากไปจำนำได้เงินหลักร้อยมาซื้อข้าวสารก็ยังดี


“เจ๊กฮง” บิดาแห่งโรงรับจำนำ

“จำนำ” หมายถึงการส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ คนเป็นหนี้เรียกว่า “ผู้จำนำ” เจ้าหนี้เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” ถือเป็นอาชีพเก่าแก่ของบ้านเราจนหาจุดกำเนิดไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีเค้ารางนิดหน่อย โดยเอกสารวชิรญาณวิเศษ [1] รัตนโกสินทร์ศก 110 หรือ พ.ศ. 2434 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า การจำนำในยุคนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ ชาวบ้านรับจำนำกันเองเงียบๆ ไม่ได้เปิดเผย กับการรับจำนำในรูปแบบ “โรงรับจำนำ” ซึ่งเพิ่งมามีเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลัง

เอกสารชิ้นนี้บอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากคนจีนชื่อ “เจ๊กฮง” เป็นผู้ตั้งโรงรับจำนำขึ้นใน รศ.85 หรือ พ.ศ. 2409 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

“มีจีนคนหนึ่งชื่อเจ๊กฮง คิดตั้งโรงจำนำขึ้นโรงหนึ่งที่ริมประตูผีนี้เอง เป็นรากเหง้าของโรงรับจำนำที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ แลจีนคนนี้เป็นคนฉลาดในการค้าขายจริงๆ เมื่อตั้งโรงจำนำขึ้นแล้วทุนรอนก็มีนิดหน่อย ต่อมีผู้ไปจำนำอยู่บ้างเล็กน้อย ในชั้นต้นการกำหนดดอกเบี้ยก็คิดผ่อนลดลงกว่าราคาตามชาวบ้านครึ่งหนึ่ง คือชาวบ้านเคยเรียกดอกตำลึงละสลึง นี่เรียกแต่เฟื้องเดียว ทั้งรับของก็แพงด้วย ล่อใจหลายอย่าง ...ผู้จำนำก็เลยติดมากขึ้นทุกที จนที่สุดผู้จำนำมีความนิยมพร้อมใจกันมาจำนำเฉพาะแต่เจ๊กฮงคนเดียวเท่านั้นโดยมาก แต่นั้นมาชาวบ้านเคยรับจำนำก็ซาน้อยลงไป เพราะไม่มีของจะรับก็เลิก หันหากินทางอื่นเสียด้วยกันเป็นอันมาก

..กาลต่อมาจีนคนใดมีทุนรอนพอจะตั้งโรงจำนำได้ ก็คิดเอาอย่างกันตั้งโรงจำนำขึ้นเป็นส่วนของตัวเอง โรงหนึ่งๆ บ้าง รวบรวมกันเป็นพวกเป็นเหล่าบ้าง การรับจำนำก็แพร่หลายมากขึ้นทุกทีโดยลำดับ...”


ไม่มีจีนคนใดตั้งโรงจำนำแล้วขาดทุน

ดูจากที่บันทึกไว้จะเห็นได้ว่าเมื่อทุนจีนเข้ามา ชาวบ้านที่เคยรับจำนำกันเองก็เริ่มรามือ ทำให้ “โรงรับจำนำ” เป็นอาชีพของกลุ่มคนจีนโดยเฉพาะ ในยุคบุกเบิกของ “เจ๊กฮง” ได้แก้ข้อสัญญาที่เลื่อนลอยตามแบบชาวบ้านให้เป็นระบบมากขึ้น โดยมีการจัดทำตั๋วเป็นหลักฐานให้ผู้จำนำ และจัดทำ “ตึ๊งโผว” หรือบัญชีสำหรับจดรายการสิ่งของและรายรับ คำว่า “ตึ๊ง” เป็นภาษาแต้จิ๋วแปลว่า “จำนำ” เลยกลายเป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกแทน “กิริยาการเอาของไปจำนำ” หรือ “เอาของไปตึ๊ง” นั่นเอง

แต่เมื่อธุรกิจจำนำไปได้สวย คู่แข่งเยอะ ลูกค้าก็แยะ ในช่วง รศ.110 โรงรับจำนำจึงมีความซับซ้อนขึ้น โดยจะมีการแบ่งหน้าที่กันไป คือ โพ้วเจ๋อย คือ คนขายของหน้าร้าน เงินเดือน 12-15 บาท ซิมเหียน คนจัดของหรือจดบัญชีต่างๆ เงินเดือน 15-20 บาท จงเผ้า คนทำกับข้าว หรือทำงานอื่นๆ เบ็ดเตล็ด เงินเดือน 8 บาท

โดย “เถ้าแก่ใหญ่” เป็นผู้จัดการทุกอย่าง หาทุนรอน ทำบัญชี โดยปกติมี 5 เล่ม คือ ไล่อ๊วงโผว จดรายรับรายจ่ายทั้งหมด, ยิดเซ่งโผว รายรับรายจ่ายรายวัน, ติ๋งโมว รายละเอียดสิ่งของที่นำมาจำนำ, พะห้วยโผว จดรายการของหลุดจำนำ และหวยชิดกับซิวหลี จดค่าดอกเบี้ยที่เขามาส่งหรือมาไถ่ และค่าโสหุ้ยที่ใช้ประจำโรง

การเป็น “เถ้าแก่ใหญ่” นั้นยากตรงการหาทุนนี่แหละ เพราะการลงทุนครั้งแรกจะต้องมีอย่างน้อย 80 ชั่ง อย่างมากถึง 200-300 ชั่ง บันทึกบอกว่า “ถ้าไม่เป็นคนโตกว้างขวางแล้วก็ตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ไม่ได้” อีกทั้งยังต้องตาถึง ต้องรู้จักของจริงของปลอม เพราะในยุคนั้นของที่นิยมรับตึ๊งกันมักเอาแต่ภาชนะที่มีราคา พานทองเหลืองทองขาว เครื่องเงิน ทอง นาก “ถ้าผู้ใดไม่ส่งดอกเบี้ยในเดือนไหนของผู้นั้นก็เป็นหลุด จะขายเสียเมื่อไหร่ก็ได้”

โรงรับจำนำของนายทุนจีนสร้างผลประโยชน์ให้อย่างน้อยที่สุดเดือนละ 120 บาท อย่างมากเดือนละ 300 บาท และที่น่าสนใจมากก็ตรงที่วชิรญาณวิเศษบันทึกไว้ว่า “...ตั้งแต่ตั้งมาก็ยังไม่เห็นว่า จีนคนใดตั้งโรงจำนำขึ้นแล้วขาดทุน...” แถมบางครั้งก็ดูเป็นมาเฟียนิดๆ เพราะถึงขนาดรับจำนำ “คนเป็นๆ” ด้วย มีหลักฐานคือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาสั่งให้ปรึกษาโทษในปี พ.ศ.2425 “เรื่องความผู้ร้ายลักเด็กไปจำนำไว้ที่โรงจำนำ” ดูเป็นเรื่องใหญ่พอดู เพราะคนที่ร่วมประชุมนั้นมีทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ ฯลฯ

1.jpg

พระราชบัญญัติโรงจำนำ รศ.114 มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และรับจำนำของจากเด็ก ภิกษุ สามเณร


ด้วยผลประโยชน์ก็มาก ตั้งโรงก็ไม่ต้องขออนุญาต ทำให้ใน ร.ศ.110 มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 200 โรง สะท้อนว่า “คนร้อนเงิน” มากขนาดไหน ในอีก 4 ปีถัดมา จึงมีการตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ รศ.114 ขึ้นเพื่อสกัดการซ่องสุมทำผิดกฎหมายปล้นฆ่าเอาของมาเปลี่ยนเป็นเงิน ในพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ผู้ตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต และมีการกำหนดค่าธรรมเนียมเป็นมาตรฐาน เป็นครั้งแรกที่ทางการลงมาควบคุมเรื่องการตึ๊งของประชาชน

2.jpg

แบบใบอนุญาตตั้งโรงจำนำในสมัยรัชกาลที่ 5


รากหญ้าสามัญยังคงต้องพึ่งโรงรับจำนำ

โรงรับจำนำน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจเก่าแก่ของไทย ที่ยังคงสภาพดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะ “ความจนไม่เคยเปลี่ยนแปลง” และโรงรับจำนำก็ตอบสนองความต้องการ เป็นที่พึ่งยามยากสำหรับคนที่ไม่มีเครดิตไปกู้ธนาคารที่ไหน 

ปัจจุบันเฉพาะในกรุงเทพฯ มีสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ กทม. 21 แห่ง มีสถิติที่น่าสนใจมาก เพราะตั้งแต่วันที่ 1-10 เม.ย. มีผู้มาใช้บริการรวม 4,209 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.24 ส่วนของที่นิยมนำมาจำนำ คือ ทองรูปพรรณ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก กีตาร์ เชี่ยนหมาก-ขันทองเหลือง แม้แต่หม้อหุงข้าวเก่าๆ ที่ต้องใช้หุงข้าวทุกวัน และครก ก็ยังมีคนเอามาจำนำ ต้องบอกเลยว่า “ไม่ลำบากจริง” เราคงไม่ได้เห็นภาพแบบนี้

และหากอะไรไม่ดีขึ้น ต่อไปของที่จะเอาไปตึ๊งก็คงไม่มี


******************

อ้างอิง

[1] วิชาอาชีพชาวสยาม จากหนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ.108-113, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2554, หน้าที่ 113-128.

Photo by PhotoMIX Ltd. from Pexels

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog