ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ยืนยันมาตรฐานการรักษาโรคโควิด-19 ได้รับการยอมรับระดับประเทศ พร้อมเป็นศูนย์ในการควบคุมดูแลรักษาผู้เข้าข่ายสงสัย ยังไม่ชัดจะฟ้องกลับแพทย์หรือไม่ ขอหารือกับ สธ.ก่อน

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อม นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) และ นพ.เฉลิมพงศ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกันการแถลงข่าวกรณีแพทย์หญิงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ นพ.เฉลิมพงศ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ พ.ญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายการแพทย์ โดยกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสาธารณชน ซึ่งก่อให้เกิดการแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ตลอดจนสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับจังหวัดภูเก็ต ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคารคุณพุ่ม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานด้านสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ต มีความพร้อมและแนวทางการปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข และนับตั้งแต่มีการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว

ขณะที่ นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีการทำงานร่วมกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมีการประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนของจำนวนตัวเลขของผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยและเข้ารับการตรวจนั้นในระดับจังหวัดไม่สามารถให้ข้อมูลได้ โยจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะมีการแถลงเป็นประจำทุกวัน แต่ยืนยันว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิค-19 แต่อย่างใด

นพ.เฉลิมพงศ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า กรณีที่มีแพทย์แจ้งความดำเนินคดีกับตนเองและรองผู้อำนวยการฯ อีก 1 ท่าน ใน 5 ประเด็น ขอชี้แจงว่า ประเด็นแรกทางแพทย์คนดังกล่าวได้ยื่นหนังสือเสนอไปยังผู้ว่าฯ ภูเก็ต เพื่อให้แยกผู้ป่วยที่ต้องสงสัยไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลถลาง เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงหลายที่ แต่จากการหารือร่วมกันไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีความพร้อมในด้านการรักษา โดยผู้เชี่ยวชาญและมีห้องแยกที่พอเพียง ทั้งยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการรุนแรงได้ดีกว่า ขณะนี้ทั้งสามโรงพยาบาลได้ช่วยกันรับเคสของผู้ต้องสงสัย หรือ PUI และบริหารจัดการได้ดี

นพ.เฉลิมพงศ์ กล่าวว่า ประเด็นถัดมาที่ระบุว่าไม่มีระบบการคัดแยกผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง คัดกรองโควิด-19 ไม่เป็นความจริง เพราะได้จัดตั้งจุดคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 และจุดตรวจไข้หวัดแยกจากผู้ป่วยปกติ ที่บริเวณลานม่วงขาว มาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการเก็บเสมหะในห้องความดันลบ และสำหรับผู้ป่วยในที่มีการ admit เพื่อเฝ้าสังเกตอาการในด้วยห้องแยก Isolate Room 1 ต่อ 1 มิได้ใช้ห้องรวมหรือสิ่งของร่วมกัน และในห้องก็ไม่มีแอร์ ประเด็นถัดมาขอยืนยันว่า ว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตราย PPE มีให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างพอเพียงในทุกจุดที่ให้บริการ โดยมีการสนับสนุนกันระหว่างโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 11 ประเด็นที่ 4 ทางโรงพยาบาลมีระบบห้องแยก Isolate Room ในรายที่เข้าข่าย PUI และไม่มีการใช้อุปกรณ์ร่วมกันแต่อย่างใด และประเด็นสุดท้ายเรื่องการวินิจฉัยถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเคส detect หรือ PUI การแถลงข่าวจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการฯ และผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ตามลำดับ

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีผู้ป่วยเข้าข่ายโควิด-19 นอนตามตึกต่างๆ เป็นจำนวนมากนั้น นพ.เฉลิมพงศ์ ยืนยันว่าไม่มีเคสเฝ้าระวังดังกล่าวนอนปะปนกับผู้ป่วยรายอื่น โดยจะจัดให้นอนในห้องแยกเท่านั้น รวมทั้งระบบการรับผู้ป่วยทั้งในเวลาและนอกเวลา (กลางคืน) ก็ทำกันอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกประการ ยืนยันว่า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ดำเนินการตามมาตรการการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค การป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน นักท่องเที่ยว และบุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตามสำหรับจังหวัดภูเก็ตการดำเนินการขณะนี้ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 แต่หากเมื่อใดที่ประกาศเป็นระยะที่ 3 เราก็มีความพร้อมในการรับมือ โยกรณีที่มีการเฝ้าระวังอาการไม่รุนแรง จะมีเตียงรองรับ จำนวน 45 เตียง อยู่ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 31 เตียง โรงพยาบาลถลาง 7 เตียง และโรงพยาบาลป่าตอง 7 เตียง, กรณีที่มีอาการรุนแรง มีเตียงรองรับในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 11 เตียง และหากกรณีที่พบเชื้อเราก็มีเตียงรองรับ 61 เตียง แต่หากไม่เพียงพอก็ยังมีโรงพยาบาลถลาง 60 เตียง และการเตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ศาลาประชาคมภูเก็ต ซึ่งรองรับได้ 100 เตียง โดยทุกขั้นตอนได้มีการวางแผนในการรับมือไว้อย่างเป็นระบบ และเป็นตามมาตรฐานที่กำหนด

สำหรับประเด็นที่มีการสอบถามว่าจะดำเนินการกับแพทย์ที่แจ้งความในเรื่องนี้อย่างไร นพ.เฉลิมพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ แต่คงต้องมีการหารือกับทางผู้ใหญ่ในกระทรวงก่อนว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร