ไม่พบผลการค้นหา
จากรัฐมนตรีโนเนมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” สะสม-บ่มเพาะบารมีทางการเมืองมาเป็นระยะ จนก้าวสู่สถานะ “นักการเมือง” ขวัญใจคนรุ่นใหม่และเขาประกาศชัดว่าพร้อมแล้วที่จะลุยศึกเลือกตั้ง 2562 ซึ่งมี 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' นำศึกที่ตัวเขาเองนิยามว่า “ศึกครั้งสุดท้าย”

“ทีมบริหารมืออาชีพ” คือ “สาร” จากแคมเปญของพรรคเพื่อไทยในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา วันนี้พรรคเพื่อไทยเดินหน้านำเสนอ “ทีม” ที่มีทั้ง “สุดารัตน์-ชัชชาติ” ทีมที่มีทั้งคน “รู้รอบ-รู้ลึก” มี 'สุดารัตน์' ผู้รู้รอบในทุกมิติทางการเมือง และมี 'ชัชชาติ' ผู้รู้ลึกในด้านเศรษฐกิจ ทีมที่เมื่อร่วมมือกันจะหลอมรวมเป็น “ทีมบริหารมืออาชีพ”​

เบื้องหลัง “เมกะโปรเจค รถไฟฟ้าความเร็วสูง” 

“ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” เป็นเบื้องหลังคนสำคัญในการผลักดันเมกะโปรเจกต์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในวันที่เดินสายขายไอเดียให้กับประชาชนทั่วประเทศ ชัชชาติเดินสายไปด้วยตัวเอง เขาบอกกับประชาชนว่า เมกะโปรเจกต์นี้จะกระตุ้น-เปลี่ยนแปลง ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการให้ก้าวกระโดด เกิดการเชื่อมโยง AEC ตลาด แหล่งทรัพยากร พลังงาน เกิดการกระจายความเจริญไปต่างจังหวัดและเมืองชายแดน ไปจนถึงเกิดการอุปโภคบริโภคภายในประเทศให้คึกคักย่ิงกว่าเดิม เมื่อทำเช่นนี้ได้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองจะลดลง และความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะไม่แตกต่างหนักหน่วงอย่างทุกวันนี้

การลงทุนด้านการคมนาคมใหม่จะเปลี่ยนโฉมประเทศ จากการขนส่งสินค้าและการเดินทางโดยรถ เป็น การขนส่งสินค้าและการเดินทางโดยระบบรางและน้ำ 

เมกะโปรเจกต์ที่เสนอพร้อมกันเป็นแผนการขนาดใหญ่ ได้แก่ การพัฒนารถไฟ ทั้งระบบทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 สาย สายเหนือถึงเชียงใหม่ สายอีสานถึงหนองคาย สายตะวันออกถึงระยอง และสายใต้ถึงปาดังเบซาร์ โดยระยะแรกสร้างในเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินก่อน ลงทุนพัฒนาระบบถนน เช่น มอเตอร์เวย์ 3 สาย ทำถนนเส้นหลักจาก 2 เลน เป็น 4 เลน สร้างสะพานข้ามจุดตัดรถไฟ ทำสถานีขนส่งสินค้าตามหัวเมืองใหญ่ 15 แห่ง สร้างท่าเรือใหม่ ปรับปรุงระบบขนส่งทางแม่น้ำ ทำด่านศุลกากร 40 กว่าแห่ง และอื่นๆ 

การลงทุนครั้งนี้จะเชื่อมเส้นทางคมนาคมภายในประเทศ และเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับอาเซียน เพื่อให้ไทยกลายเป็นฮับของอาเซียน

ชัชชาติมักพูดเสมอว่า “เวลามีมูลค่า-เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด” ถ้าลงทุนช้า ประเทศจะเสียโอกาสต่างๆ ไปมากมาย เป็นที่มาให้รัฐบาล ผลักดันเมกะโปรเจกต์ทั้งหมดนี้ผ่าน พ.ร.บ.อนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และเป็นที่มาของการกำหนดให้สร้างเสร็จภายใน 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2563 (หรือในอีก 2 หลังจากนี้)  


ชัชชาติ.jpg

ชัชชาติ อภิปรายถึงความจำเป็นของการสร้างเมกะโปรคเจกต์ เมื่อ 19 กันยายน 2556 ที่รัฐสภาว่า "พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่กู้ทีเดียวทั้งหมด แต่ทยอยใช้ในระยะเวลา 7 ปี ในสัดส่วนที่เหมาะสม และการคมนาคมต้องทำในภาพรวม รถไฟทำทีละท่อนไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้...ส่วนเรื่องการสร้างหนี้ เราต้องพิจารณาเรื่องมิติของเวลาด้วย การที่เราไม่ทำมา 20 ปี แล้วมาทำตอนนี้ อันนี้คือการที่คนในอดีตมาสร้างหนี้มาให้เราหรือเปล่า? ในปี 2536 เราอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ เวลานั้นใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท มาวันนี้เราต้องใช้เงิน 400,000 ล้านบาท และถ้าเราไม่ทำวันนี้ นักเรียนที่มานั่งฟังในสภาที่ต้องทำในอนาคต อาจจะต้องจ่าย 2 ล้านล้านแล้วทำได้แค่รถไฟทางคู่ก็ได้เวลามีมูลค่า" 

ทว่าถึงที่สุด เมื่อเดือนมีนาคมปี 2557 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายไม่ถูกต้อง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้บรรดาการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ทั้งหลายมันอันตกไป 

ในช่วงหนึ่งของการไต่สวน ซึ่งสร้างกระแสลบ-กระแสล้อเลียนไปทั่วโลกออนไลน์คือ 

“นายสุพจน์ ไข่มุกด์” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นส่วนตัว ขณะที่ซักถามถึงความจำเป็นการออกตรา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท กับ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เข้าเบิกความต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นหรือไม่ที่จะมีรถไฟความเร็วสูงจาก กรุงเทพฯไป เชียงใหม่ 

นายสุพจน์ ยังบอกว่า ความเห็นส่วนตัวเป็นห่วงถึงการกู้เงิน อาจเป็นการสร้างภาะหนี้ให้กับลูกหลานหลังจากนี้ และบอกกับคุณชัชชาติว่า เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งมาแล้วก็ไป ดังนั้นการกู้เงินไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ทันที จึงเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน”

จาก “รัฐมนตรีโนเนม” เมื่อเริ่มรับตำแหน่ง ในวันที่ปิดฉากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยการรัฐประหารปี 2557 ชัชชาติเดินออกจากตำแหน่งด้วยความนิยมอย่างสูง เขาได้รับฉายาใหม่ติดตัวว่าเป็น “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” อันเป็นผลจากการติดตามงานอย่างใกล้ชิด-ความเป็นกันเองกับผู้คน ชัชชาติใช้เวลา 4 ปีเต็มต่อมาในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) 

นอกจากงานบริหารธุรกิจ ชัชชาติ ตอบรับบรรยายให้ มหาวิทยาลัย-องค์กรสื่อ-ภาคเอกชน เป็นร้อยๆ แห่ง ในบางเวทีเขาพูดเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ในบางเวทีพูดเรื่องการออกแบบชีวิต ในหลายเวทีพูดเรื่อง รถไฟฟ้าความเร็วสูงและระบบการคมนาคมของไทย แต่ในแทบทุกเวที ชัชชาติไม่ลืมที่จะย้ำถึงความสำคัญของ “เวลา-เวลามีมูลค่า-ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจปล่อยให้เวลาสูญไป โดยไม่เตรียมตัว และลงมือทำ” บทสรุปเช่นนี้ ปรับใช้ได้กับทั้งตัวเรา-ประเทศชาติ ขณะที่บทสัมภาษณ์ของชัชชาติที่ให้กับสื่อออนไลน์ ยังมียอดวิวหลักหลายหมื่นถึงหลักแสน ไม่เกินเลยเกินไป ถ้าจะบอกว่า เขาคือ “ขวัญใจคนรุ่นใหม่-ชนชั้นกลางไทย” 

เก้าอี้เปล่าของ “ชัชชาติ” 

ปลายเดือนธันวาคม 2561 และแล้วก้าวที่ชัดของ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” ก็ปรากฎ เขาขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ในเวทีการประชุมพรรคเพื่อไทย เขาย้ำถึง 9 ความล้มเหลวของการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น หนี้คนไทยท่วมหัว, หนี้ธุรกิจท่วมตัว, เกษตรกรทุกข์ยาก, นักท่องเที่ยวหายรายได้หด, เงินทุนไหลออกนอกประเทศไม่หยุด, สู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้,ใช้เงินเก่งแต่หาเงินไม่เป็น,ปัญหายาเสพติดหนักหน่วง และปัญหาคอรัปชั่นในยุคที่ไม่มีนักการเมือง เขาย้ำถึงการบริหารโดยทีมมืออาชีพที่พร้อมเข้ามาแก้ไขวิกฤตินี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมทำหน้านั้นในการพาประเทศเดินออกจากความล้มเหลวนี้

เมื่อพิธีกรเอ่ยชื่อให้ชัชชาติขึ้นสู่เวทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ เขาถือเก้าอี้เปล่าตัวหนึ่งขึ้นเวที และวางมันไว้ด้านซ้ายมือของเขาบนเวที โดยที่ผู้ฟังคงกำลังฉงนในใจว่า ชัชชาติจะใช้เก้าอี้ตัวนั้นสื่อสารถึงอะไรกันแน่ ? จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 20 นาที ชัชชาติ ค่อยๆบอกเล่าถึงความสำคัญของ “เก้าอี้” ที่เขาถือมาวางไว้บนเวที

ชัชชาติชี้ไปที่เก้าอี้เปล่าตัวนั้น แล้วย้ำว่า “จะทำอะไร ต้องคิดถึงคนสำคัญที่สุดที่ไม่ได้อยู่ห้องนี้.. คนสำคัญที่สุด ไม่ใช่คุณหญิงสุดารัตน์ ไม่ใช่ท่านหัวพรรค แต่คือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้”

“ผมเอาเก้าอี้มาตั้งตรงนี้ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้พวกเราว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องคิดถึงคนสำคัญที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ ...​ เราต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เราต้องสร้างโอกาสให้ประชาชน ให้เขาเข้มแข็ง ประเทศของเราจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่ยาก”  

“ไม่ใช่การแจกเงิน เพราะการแจกเงิน มันแค่ระยะสั้น แต่เป็นการสร้างโอกาสแบบที่เราเคยทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สามสิบบาทรักษาทุกโรค โครงการ OTOP กองทุนหมู่บ้าน การสร้างโอกาสจะทำให้คงอยู่ตลอดไป โจทย์สำคัญคือ เราจะสร้างโอกาสอย่างไร จะเอาประชาชนเป็นที่ตั้งอย่างไร ? จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างไร ?”

ก้าวที่ชัดของ “ชัชชาติ” ในศึกครั้งสุดท้าย 

สปอร์ตไลต์ทางการเมืองนับแต่นี้ จะฉายชัดไปที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” ในฐานะมืออาชีพด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ในศึกเลือกตั้ง 2562 หลายฝ่ายประเมินกันว่า เขาคือหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่-คนเมือง ให้กับพรรค 

การเดินออกจาก บทบาทนักธุรกิจ สู่ บทบาทผู้นำพรรค เป็นไปอย่างมีลำดับ-ชั้นเชิง ในวันศุกร์สุดท้ายของปี ชัชชาติโพสต์เฟซบุ๊ค แจ้งข่าวการลาออกจากบริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หลังบริหารบริษัทมาครบวาระสี่ปีเต็ม เขาบอกปริศนาถึงอนาคตทางการเมืองสั้นๆ ว่า “สวัสดีอนาคต ผมพร้อมแล้ว” เฉพาะโพสต์นี้ ทั้งยอดคนกดไลค์ กดแชร์ คอมเม้นต์ ดำเนินไปชนิดทะลุสถิติที่นักการเมืองในสนามการเลือกตั้งรอบนี้ไม่เคยไปถึงมาก่อน

สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 ชัชชาตินิยามว่า นี่เป็นศึกอันใหญ่หลวง-ศึกครั้งสุดท้าย เขาโพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศว่า “ในปีใหม่ 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ขอให้พวกเราทุกคน มีกำลังใจและกำลังกายที่แข็งแกร่ง พร้อมมาร่วมเป็นทีม Avergers ที่จะลุย ศึกครั้งสุดท้าย The Final Battle นี้ไปด้วยกันครับ” 

สำหรับชัชชาติ การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เพราะเป็นการนำพาประเทศออกจากทศวรรษที่สูญหาย -- ทำไมจึงไม่ควรให้ทศวรรษที่สูญหายของประเทศลากยาวออกไป ? ตัวเขาเองเคยพูดเรื่องต้นทุนของเวลาไว้ในที่ต่างๆ เหมือนประโยคนี้ที่พูดไว้เมื่อ 30 กรกฎาคม 2556 ในวันที่เดินสายขายไอเดียเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะผ่านไปกี่ปีประโยคนี้ยังคงใช้ได้เสมอ “ปัญหาจริงๆ แล้วของเรา คือเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเวลา เพราะเราคิดว่าเวลาคือของฟรี แต่ระยะเวลาไม่ฟรี … เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด” 

เมื่อเวลามีมูลค่าเช่นนี้ เราจะปล่อยให้การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ถูกขยับไปอีกหรือ ? 

วยาส
24Article
0Video
63Blog