บทความชิ้นล่าสุดจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) ‘โทโมโอะ โฮคุโบ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์นโยบายสังคม องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย แสดงความกังวลอย่างชัดเจนกับปัญหาความยากจนที่เด็กไทยกว่า 22% กำลังต้องเผชิญ ทั้งยังมีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงช่วงหวังโควิด-19
ผลพวงหลักจากวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันได้ได้แค่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอาจหดตัวติดลบ แต่ยังกระทบแรงงานรายได้ปานกลางถึงต่ำท่ีต้องดิ้นรนย้ายสถานที่เพื่อหางานใหม่ ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องย้ายถิ่นฐานและไม่ได้อยู่กับครอบครัวของตนเอง
จากรายงานอ้างอิงตัวเลขผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีผลต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในปี 2559 พบว่า เด็กไทยมากกว่า 1 ใน 5 คนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูง
ปัญหาสำคัญเมื่อเด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนเองแสดงออกมา ทั้งในรูปแบบการตกไปอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ซึ่งกระทบต่อเนื่องมายังสุขภาพของเด็กเหล่านั้นให้มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งยังมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป ด้วยเหตุนี้ วิกฤตโควิด-19 ปัจจุบัน ที่ทำให้ประชากรจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียอาชีพไปทั้งชั่วคราวและถาวร ยิ่งซ้ำเติมสภาพความด้อยโอกาสจากความยากจนที่มีอยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ผลการสำรวจล่าสุดระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ยังพบว่าครัวเรือนที่มีเด็กอายุ 6-11 ปี ทั้งที่อาศัยอยู่และไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีระดับหนี้สินเพิ่มมากขึ้นขณะที่รายได้ต่ำลง นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งยังแสดงออกถึงความยากลำบากในการประคับประคองครอบครัวให้มีชีวิตรอดจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการหยิบยืมเงินจากญาติและเงินกู้นอกระบบ เนื่องจากเงินออมที่เคยมีมาต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายประทังชีวิต อาทิ อาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปจนถึงค่าเทอมและอุปกรณ์การเรียนของบุตรหลาน
ผู้ตอบแบบสำรวจรายหนึ่งซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดชลบุรีชี้ว่า เนื่องจากรายได้ลดลง ปัจจุบันค่าแรง 252 บาท/วัน ของเธอจึงหมดไปกับค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายประจำวัน จนทำให้ไม่มีเงินเหลือเพียงพอส่งกลับไปให้ลูก 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่กับตายายในจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และต้องอาศัยการดิ้นรนผ่านเบี้ยคนชรา 500 บาท/เดือน รวมกับเงินเยียวยาเกษตร 5,000 บาท มาเป็นค่าเล่าเรียนแทน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวรายนี้สะท้อนภาพครัวเรือนไทยอีกมากมายที่หัวหน้าครอบครัวมีรายได้ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ที่กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงผลพวงที่ตามมาจากปัญหาการขาดนักท่องเที่ยวจนบริษัทห้างร้านหลายแห่งทยอยปิดตัวลง
เด็กจำนวนมากไม่เพียงไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ เพื่อการศึกษาออนไลน์ ยังไม่สามารถเข้าถึงการมีอาหารที่ครบถ้วนตามโภชนาการ ซึ่งยูนิเซฟชี้ว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป โอกาสในการเรียนรู้และเติบโตตามวัยจะยิ่งลดลง
ในรายงานประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมช่วงโควิด-19 ที่จัดทำโดยยูนิเซฟและยูเอ็นดีพียังเสริมว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐผ่านเงินเยียวยา 5,000 บาท จะประทังชีวิตแรงงานนอกระบบและเกษตรกรได้ถึงเพียงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น ก่อนที่กลถ่มคนเหล่านี้จะต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากความช่วยเหลือที่เพียงพอ
“ไม่ควรมีเด็กคนใดต้องรู้สึกว่าต้องต่อสู้ดูแลตัวเอง เด็กต้องไม่ถูกทิ้งในวิกฤต”
บทความย้ำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกลับเข้ามาเยียวยากลุ่มครอบครัวที่มีความเปราะบางอีกครั้งหลังเดือน ส.ค.เป็นต้นไป เพื่อคุ้มครองสถานะทางการเงินของครัวเรือนเหล่านี้ ให้เด็กๆ สามารถเรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีวิกฤตก็ตาม