เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. นำโดย อนุสรณ์ อุณโณ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวมตัวและเดินเท้าจาก 'ลานปรีดี พยมยงค์' สู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออ่านและยื่นแถลงการณ์ เรื่อง 'หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศไทย' พร้อมแนบรายชื่อคณาจารย์ทั่วประเทศ 1,118 รายชื่อมาด้วย โดนมีนายประทีป กีรติ เรขา ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มารับหนังสือ
คนส.ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้
1. ขอประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม และรัฐบาลจะต้องยุติการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้
2. รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไม่สมควรแก่เหตุ
3. รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งการให้นายกรัฐมนตรีลาออก, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในภาควิชาการ ประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษามีส่วนร่วม
อนุสรณ์ อ่านแถลงการณ์ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอของนักเรียนนักศึกษาผู้ชุมนุม หรือ คณะราษฎร'63 ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศได้ ไม่ถูกรับฟังจากผู้มีอำนาจและยังถูกปิดกั้น มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ไม่ได้สัดส่วนกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ มีเวลายุติชัดเจน รวมถึงมีสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ชัดเจนว่า วิธีการของรัฐไม่ได้ผล ผู้ชุมนุมเปลี่ยนจากการชุมนุมขนาดใหญ่มาเป็นลักษณะดาวกระจาย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า "จะไม่จบโดยง่าย"
อนุสรณ์ ระบุว่า ในฐานะนักวิชาการที่คอยดูแลสั่งสอนลูกศิษย์ นอกจากให้มีความรอบรู้เพื่อจะประกอบอาชีพ แต่ยังต้องบ่มเพาะพวกเขาให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ให้มีบทบาทในการเข้ามาคลี่คลายปัญหาของประเทศ วันนี้จึงคิดว่าจำเป็นที่จะต้องสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี ให้รับทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะเป็นไปได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะรับฟังข้อมูลบางส่วนบางด้าน โดยอาจจะไม่ได้ฟังด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาล หรือที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดำเนินการวันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของนักวิชาการด้วย
อนุสรณ์ เปิดเผยด้วยว่า คณาจารย์ที่สังกัดในมหาวิทยาลัยราชภัฏถูกผู้บริหาร สั่งห้ามไม่ให้แสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งสะท้อนว่า ในสถาบันวิชาการแม้แต่ราชภัฎ ก็ไม่ว่างเว้นถูกแทรกแซงครอบงำ หรือใช้อำนาจ "ดิบหยาบ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ คนส. ได้ขีดเส้นตายให้ผู้มีอำนาจดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้น คนส.จะยกระดับการเรียกร้อง โดยเบื้องต้นอาจจะร่วมกัน 'หยุดสอนหนังสือ' หรือปิดคาบเรียน ซึ่งก็จะถือว่า เป็นการสนับสนุนให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนตามเจตนาและความต้องการของนักศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันเองด้วย พร้อมย้ำว่า การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ เป็นไปเองจากการเรียนรู้ในสังคม ไม่มีการจัดตั้ง การสกัดกั้นหรือจับกุมแกนนำไม่สามารถยุติการเคลื่อนไหวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :