การเฉลิมฉลองส่งท้ายปลายปีกำลังย่างกรายเข้ามา บรรยากาศของหลายเมืองใหญ่ปกคลุมด้วยธีม ‘สีแดง’ และ ‘สีเขียว’ (ปีหลังๆ เริ่มมีสีทองเปล่งประกายแวววาวสอดแทรกอยู่บ้าง) เพื่อสื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส แต่เคยสงสัยไหมว่า ต้นตอของการจับคู่สีคลาสสิกนี้มันมาจากไหน แล้วทำไมอยู่ๆ ทั้ง 2 สี ถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ทรงประสิทธิภาพท่ามกลางกลิ่นอายความสุข
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผสมผสานสีแดง-เขียวในเทศกาลคริสต์มาส คือการรวมกันระหว่างความงดงามทางธรรมชาติ และกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์น้ำอัดลมชั้นนำของโลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้สีทั้ง 2 เข้าไปยึดครองจิตใจผู้บริโภค
เริ่มต้นกันด้วยการนิยามตามธรรมชาติ คู่สีแดง-เขียวที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส จริงๆ แล้วถูกถอดรหัสมาจาก ‘ต้นฮอลลี’ (Holly) เนื่องจากมันมีใบเขียวชอุ่ม ประกอบกับออกผลเป็นสีแดงสักหลาด และหากย้อนเวลากลับไปนับพันๆ ปี ก้านของต้นฮอลลี ต้นมิสเซิลโท (Mistletoe) และต้นไอวี (Ivy) มักถูกนำมาใช้ในการประดับตกแต่ง และช่วยให้บ้านมีชีวิตชีวามากขึ้นท่ามกลางฤดูหนาวที่แสนยาวนาน อีกทั้งยังเป็นการเตือนใจ (หรือให้ความหวัง) ผู้คนด้วยว่า ฤดูใบไม้ผลิกำลังมา และฤดูอันหนาวเหน็บจะไม่คงอยู่ตลอดไป
ในอีกทางหนึ่ง ต้นฮอลลียังนับเป็นรากฐานของศาสนาคริสต์ โดยผลสีแดงเปรียบเป็น��ัญลักษณ์ของเลือดบนไม้กางเขน ส่วนใบไม้ที่มีหนามเปรียบเป็นมงกุฎหนามบนศีรษะพระเยซูคริสต์
มากไปกว่านั้น ที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันมากมายประมาณว่า ผู้คนยุควิกตอเรียเกี่ยวข้องกับ ‘สีแดง’ และ ‘สีเขียว’ ของคริสต์มาส เพราะพวกเขายึดติดกับการใช้สีแสดงความมั่งคั่ง และความหรูหรา แต่หลักๆ แล้วการผสมสีไม่ใช่แค่ ‘สีแดง’ และ ‘สีเขียว’ ทว่ามันกลับเป็น ‘สีน้ำเงิน’ ที่มักนำมาใช้เป็นสีหลักสำหรับตกแต่งการ์ดคริสต์มาสสไตล์วิกตอเรีย มากไปกว่านั้น ซานตาคลอสสมัยวิกตอเรียยังถูกบรรยายว่า หุ่นผอมเพรียว และไม่ได้สวมยูนิฟอร์มแดง
ทว่าพอก้าวกระโดดมาช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เรื่องราวมันซับซ้อนกว่าที่หลายคนคิด เพราะ ‘สีแดง’ และ ‘สีเขียว’ ประจำเทศกาลคริสต์มาส นอกจากประเด็นความงามทางธรรมชาติ ยังกลายเป็นกลยุทธ์ทางการค้า เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์โคคา-โคลา (Coca-Cola)
เรื่องราวทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปในปี 1931 หรือเมื่อ 87 ปีก่อน เมื่อแบรนด์น้ำอัดลมตัดสินใจจ้างศิลปินอเมริกันนามว่า แฮดดอน ซันด์บลอม (Haddon Sundblom) มาออกแบบซานตาคลอสแก้มยุ้ยๆ พุงพลุ้ยๆ หนวดเคราสีขาว สีหน้าท่าทางออกแนวสดใสร่าเริง สะท้อนวัฒนธรรมของอเมริกัน และสวมชุดแดงแตกต่างจากภาพเดิมๆ ที่เคยเห็นมาก่อน ตัดกับพื้นหลังสีเขียวเข้ม เพื่อทำโฆษณาแคมเปญคริสต์มาสสุดยิ่งใหญ่ ซึ่งต่อมามันกลายเป็นซานตาคลอสที่ทั่วโลกรู้จัก ให้ความรู้สึกเป็นมิตรอบอุ่น และชื่นชอบกันในปัจจุบัน
แน่นอนว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะชุดของซานตาคลอสดูๆ แล้วมันเป็นช่างเหมาะเจาะกับสีหลักของแบรนด์น้ำอัดลมยิ่งนัก และนั่นส่งผลให้คู่สีแดง-เขียวถูกกำหนดเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาลคริสต์มาสเรื่อยมา ส่วนทางด้านโคคา-โคลา ก็เดินหน้าร่วมงานกับซันด์บลอมในแคมเปญอื่นๆ อีกมากมายภายหลังจากความสำเร็จของโฆษณาคริสต์มาส
อย่างไรก็ตาม ถ้าอ้างอิงจากเอเรียลล์ เอคสทัท (Arielle Eckstut) ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง ‘The Secret Language of Color’ จะพบว่า ทั้งธรรมชาติ และแบรนด์โคคา-โคลา มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับเทศกาลคริสต์มาส
ปัจจุบันโลกเปี่ยมล้นด้วยสีสันละลานตา บางเฉดสีไม่จำเป็นต้องสงวนสำหรับอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวย หรือใช้ในโอกาสพิเศษเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และถ้ามองย้อนกลับไปในสมัยก่อนยุคกลาง สีถูกนำมาสร้างความเข้าใจเรื่องชีวิต และการรับรู้ทางวัฒนธรรม
สียังสามารถทำให้ตกใจ และสร้างความรู้สึกไม่สบายใจ แม้กระทั่งตอนนี้ การเปิดตัวต้นคริสต์มาสในทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ล่าสุดเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กับบนอินเทอร์เน็ตว่า ต้นสนสีเขียวแบบดั้งเดิมถูกเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือด ซึ่งมันเป็นสีที่ผิดปกติ และส่วนใหญ่ใช้แทนแสดงความรุนแรง และความโกรธ
สำหรับการออกแบบตกแต่งทำเนียบขาวต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ถือเป็นผลงานของเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ซึ่งเธอมาพร้อมกับธีม ‘American Treasures’ หรือ ‘ทรัพย์สมบัติของคนอเมริกัน’