แวบแรกที่เห็นว่าภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง To The Ends of the Earth เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 25 ปีระหว่างญี่ปุ่นและอุซเบกิสถาน ฉับพลันนั้น ‘สูตร’ ของ ‘หนังโครงการ’ ก็ผุดขึ้นในหัวของผู้เขียนทันที โดยมากหนังมักว่าด้วยตัวละครที่ต้องไปใช้ชีวิตต่างดินแดน ช่วงแรกจะรู้สึกไม่ฟิตอินกับผู้คนและวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย แต่สักพักจะพบกับตัวละครที่เป็นชาวท้องถิ่นจิตใจดี หากตัวเอกเป็นผู้หญิง เธอจะพัฒนาความสัมพันธ์กับชายหนุ่มพร้อมกับการเรียนรู้ถึงประเทศที่เธอไปเยือน และหนังก็จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นในไม่ปรากฏใน To The Ends of the Earth เลย เพราะนี่คือผลงานของผู้กำกับ คิโยชิ คุโรซาวะ
คุโรซาวะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อหนังสยองขวัญญี่ปุ่น หากแต่หนังของเขาไม่ได้เน้นจังหวะตกใจสะดุ้งโหยง โลกของคุโรซาวะเต็มไปด้วยความหลอกหลอน สิ่งปลูกสร้างหักพัง เงาลึกลับดำทะมึน และถึงที่สุดแล้วหนังของเขาไม่ค่อยพูดเรื่องผี แต่เน้นถึง ‘ผู้คน’ โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ที่ล่มสลายทางการสื่อสาร เช่น มนุษย์ที่เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตแต่กลับเต็มไปด้วยความอ้างว้างใน Kairo (2001) หรือนักสืบหนุ่มที่หมกมุ่นกับคดีฆาตกรรมจนลืมใส่ใจภรรยาตัวเองจากเรื่อง Creepy (2017)
เรื่องราวของ To The Ends of the Earth ว่าด้วยโยโกะ (อัตสึโกะ มาเอดะ หรืออัตจัง อดีต AKB48) นักข่าวสาวที่ไปถ่ายรายการท่องเที่ยว ณ ประเทศอุซเบกิสถาน หนังมีส่วนผสมที่ประหลาดเอามากๆ ในแง่หนึ่งมันดูเป็นหนังดราม่าคอเมดี้ว่าด้วยหญิงโก๊ะกังท่ามกลางดินแดนที่เธอไม่รู้จัก แต่หลายฉากก็เป็นความตลกร้ายที่ขำไม่ออก โดยเฉพาะกระบวนการถ่ายทำรายการ เช่นว่าโยโกะต้องกินอาหารท้องถิ่นอย่างเอร็ดอร่อยทั้งที่อยากจะคายทิ้ง หรือฝืนร่าเริงสดใสหน้ากล้องตอนนั่งเครื่องเล่นในสวนสนุก เหล่านี้คือการเสียดสีความปลอมความเปลือกของวงการบันเทิง
นอกจากนั้นหนังยังมีประเด็นเรื่องเพศสภาพ โยโกะเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในทีมถ่ายทำ พวกเพื่อนร่วมงานผู้ชายปฏิบัติกับเธอไม่ดีนัก ซ้ำร้ายยังถูกชาวบ้านชาวเมืองเหยียดอีก (ตอนถ่ายทำที่แม่น้ำ ชาวประมงเชื่อว่าจับปลาไม่ได้เพราะมีผู้หญิงมาด้วย) และแน่นอนว่าไม่มีชายชาวอุซเบกิสถานผู้ใจดีมาช่วยเหลือโยโกะแต่อย่างใด
ยิ่งผู้เขียนดูหนังไปก็ยิ่งแปลกใจว่านี่มันหนังสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศจริงหรือ คนอุซเบกิสถานได้ดูหนังอาจจะไม่พอใจเสียมากกว่า แต่คาดว่าคุโรซาวะคงต้องการนำเสนอว่าเมื่อคุณเป็นคนต่างถิ่นสิ่งที่ต้องเผชิญคือ ‘ความเป็นอื่น’ ไม่มีทางจะเป็นอันหนึ่งอันดียวกับสังคมวัฒนธรรมของประเทศอื่นได้ภายในเวลาไม่กี่วัน
หากถามว่าแล้วตกลง To The Ends of the Earth เป็นหนังประเภท (genre) ไหนกันแน่ ผู้เขียนคงตอบว่าสรุปแล้วนี่ก็คือหนังสยองขวัญ-หนังแนวถนัดของคุโรซาวะอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่โยโกะออกไปเดินเที่ยวคนเดียว เธอเต็มไปด้วยความหวาดระแวง แถมยังชอบไปเดินตามตรอกซอกซอยลึกลับเพื่อจะได้เข้าซีนสลัวน่ากลัวอันเป็นภาพจำในงานของผู้กำกับรายนี้ หรือกระทั่งตอนที่นางเอกนอนอยู่ในโรงแรมหรู อยู่ดีๆ ก็มีลมพัดแรงกระแทกเข้ามาคุกคามชีวิตเธอ
อย่างไรก็ดี หนังมีส่วนที่พูดถึงความสัมพันธ์เชิงการทูตของญี่ปุ่นกับอุซเบกิสถานด้วย หากแต่ไม่ใช่ฉากซาบซึ้งประเภทมนุษย์ต่างภาษาเกื้อกูลกัน แต่ดันเป็นฉากที่นางเอกถูกนายตำรวจต่อว่าที่นางตัดสินไปเองว่าคนอุซเบกิสถานน่ากลัว เขากล่าวทำนองว่าคนเราต้องเชื่อใจกันบ้างสิ ไม่งั้นเราจะไปกันไม่รอด ทว่าน่าสนใจว่า ‘ความไว้ใจ’ นี้ตั้งอยู่บนของพื้นฐานของกฎหมาย (ให้ความร่วมมือกับตำรวจ) และกฎสากล (การไม่ racism) ไม่ใช่เรื่องสูงส่งประเภทมนุษยธรรมแต่อย่างใด
ตามปกติแล้วหนังโครงการเช่นนี้จะต้องจบด้วยการที่ตัวเอกได้ ‘เรียนรู้’ อะไรบางอย่าง อาทิ “ประเทศนี้ก็ไม่ได้แย่มากนะ” หรือ “คนประเทศนี้ที่จริงก็ใจดีนี่นา” แต่ดูเหมือนโยโกะจะไม่ได้เฉียดใกล้ประสบการณ์เหล่านั้น เธอยังคงสับสนมึนงงกระทั่งวันท้ายๆ ที่อยู่ในประเทศนี้ และอันที่จริง ‘ความสับสน’ ก็เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของหนัง ทั้งตัวนางเอกที่แท้จริงแล้วอยากเป็นนักร้อง หรือฉากหนึ่งที่ข่าวโทรทัศน์รายงานว่าเกิดเหตุไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันที่โตเกียว แต่ภาพข่าวชวนให้คิดถึงความโกลาหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในช่วงสึนามิ มีนาคม 2011
To The Ends of the Earth จึงเหมือนผลงานตอกหน้าพวกหนังโลกสวยประเภทที่ไปต่างเมืองชั่วครู่ชั่วยาม แล้วเกิดความสว่างทางปัญญาขึ้นมาได้
หนังพยายามชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่การไปผจญโลก ‘ภายนอก’ หากเป็นการย้อนมองถึงปัญหา ‘ภายใน’ ของตัวเองอย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งในที่นี้คือทั้งชีวิตของโยโกะและอนาคตของประเทศญี่ปุ่น