ไม่พบผลการค้นหา
‘ประธานสภา’ ชี้ ‘สุรเชษฐ์’ ร้องสอบ ป.ป.ช. ต่อศาลฎีกาฯนักการเมืองได้เลย มั่นใจการเฟ้นหามีคณะกรรมการเช็กอยู่แล้ว

วันที่ 22 เม.ย. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงหนังสือของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องของ กรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่งที่มีความขัดแย้งกับตนเอง ไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ ว่า ตามประมวลจริยธรรม และการตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. หากกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดเอง ผู้ร้อง สามารถร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรงด้วยตนเอง และศาลฎีกาฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยตรง ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบได้ทุกองค์กร ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า องค์กรใดตรวจสอบอย่างไร แต่เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอื่น

ดังนั้นกฎหมายจึงระบุไว้ว่า เมื่อมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กรรมการ ป.ป.ช.ก็ให้ร้องโดยตรงไปถึงศาลฎีกาฯ ได้ทันที ซึ่งในกระบวนการในการพิจารณาเมื่อเรื่องร้องเรียนแล้ว สำนักงานศาลฎีกาจะตรวจสอบว่า คำร้องดังกล่าว มีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯ รับไว้พิจารณา ก็เข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป 

ส่วนกระบวนการของรัฐสภา จะมีการตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าว ย้อนหลังด้วยหรือไม่นั่น เนื่องจากในเอกสารของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการอ้างถึงการวิ่งเต้นของกรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการคัดสรรด้วยนั้น ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ยังไม่มีการตรวจสอบ แต่ในกระบวนการสรรหากกรรมการ ป.ป.ช. มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว และเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้น ก็ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยอีกขั้นตอนหนึ่ง