วันที่ 13 ก.ค. 2563 การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน ที่มีนายทวี สอดส่อง ทำหน้าที่เป็นประธาน มีวาระหารือถึงประเด็น ความพยายามเปลี่ยนตัวประธาน คณะกรรมาธิการป.ป.ช .จากพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และเพิ่มกรรมาธิการให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งฝ่ายค้านเป็นห่วงระบบ โดยเฉพาะธรรมาภิบาลและการตรวจสอบ ปกป้อง รักษาภาษีอากร การทุจริตคอรัปชั่น
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อถกเถียงจำนวนสัดส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหลักการต้องเป็นไปตามสัดส่วนของพรรคการเมือง โดยเห็นว่าการใช้เสียงข้างมากเพื่อเลือกประธาน จะกลายเป็นปัญหา ปัจจุบันจึงมีการตกลงสัดส่วนของตำแหน่งประธานกรรมาธิการตาม โควต้าพรรคการเมืองในขณะนั้น และหนึ่งในคณะกรรมการป.ป.ช.ก็เป็นโควต้าของพรรคเสรีรวมไทยได้ตำแหน่งประธานดัง ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีการยึดถือตามหลักการและประเพณีมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการแต่งตั้งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และเชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดหากทุกคนยึดถือหลักการดังกล่าวเหมือนที่เคยปฏิบัติมา
ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเข้มแข็งยึดถือข้อปฏิบัติ และเห็นว่าไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติในการปลดประธานกรรมาธิการ เพราะหากรัฐบาลเห็นว่าไม่พอใจในประเด็นใดก็สามารถยื่นเรื่องเข้าไปเพื่อขอปลดคนต่างๆ ได้ตามความต้องการหรือไม่
นายธีรชัย พันธุมาศ กรรมาธิการ ป.ป.ช. ชี้ให้เห็นว่าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนใน กมธ.เป็น 9 ต่อ 6 คนนั้น มาจากความพยายามในการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องการถวายสัตย์ ซึ่งในท้ายที่สุดได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสนอบุคคลเข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน และเป็นไปตามคำสั่งการของฝ่ายบริหาร การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจึงไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ขัดหลักการประชาธิปไตย ใช้เสียงข้างมากลากไป ซึ่งเห็นว่าหากวิธีการดังกล่าวจะทำให้หลักการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง พรรคฝ่ายค้านจึงแสดงจุดยืนยันแข็งขันว่าไม่เห็นด้วยกับการปลดพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.ของฝ่ายรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่เพิ่ม
นอกจากนี้ยังเห็นว่าสิ่งที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เนื่องจากเห็นว่ามีการกระทำที่ผิดข้อบังคับนั้น ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ขณะที่การเสนอเลื่อนดังกล่าวมาเป็นญัตติด่วนนั้น จะต้องมีเหตุผลเพียงพอ
นายพนัส ทัศนียานนท์ ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การตั้งบุคคลของพรรคพลังประชารัฐเพิ่มมาเป็น 5 คนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 93 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่ 4 คน
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเจตนาถึงการปิดกั้นและทำลายกลไกการตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างชัดเจนดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ และขอให้ยุติพฤติกรรมโดยเด็ดขาด
พรรคฝ่ายค้านยังเรียกร้องให้ยุติการสั่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถอดถอนประธานกรรมการป.ป.ช. รวมถึงยุติความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนให้คนของรัฐบาลเข้ามาแทน สัดส่วนของพรรคก้าวไกล พร้อมสื่อสาร ถึงนายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการทำลายกลไกการตรวจสอบของระบบรัฐสภาหรือไม่
พร้อมยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านไม่เคยใช้กลไกของกรรมาธิการเป็นเครื่องมือ แต่ที่ผ่านมาได้ใช้กลไกเหล่านี้ตรวจสอบถ่วงดุลความโปร่งใส ตรวจสอบสิ่งที่รัฐได้ปกปิดความฉ้อฉล การกระทำของตนเอง
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าความพยายามดังกล่าวเป็นการปิดปากฝ่ายค้าน และมองว่าความกังวลในการใช้จ่ายงบประมาณจะมีการแสวงหาประโยชน์เพื่อกลุ่มและพวกพ้อง จึงตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้จะหนีการตรวจสอบ เข้ามาครอบงำการทำงานหรือไม่ พร้อมสนับสนุนให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไตร่ตรองให้รอบคอบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดประเพณีการปกครองหรือไม่ จึงต้องช่วยกันทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องสาธารณะ และร่วมกันตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎร