วันที่ 2 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งค้างจากการประชุมครั้งที่แล้ว หลังการแถลงหลักการและเหตุผลและสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จแล้ว แต่ในครั้งนั้นองค์ประชุมไม่ครบจึงนำกลับมาลงมติในวันเดียวกันนี้
โดยก่อนลงมติได้มีการตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมไม่ครบจำนวน ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้ามาในห้องประชุม พร้อมบอกกับสมาชิกว่า แม้แต่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังมาร่วมเป็นองค์ประชุมด้วย
ในระหว่างนั้น รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ประธานฯ สรุปการลงมติทันทีโดยไม่ต้องรอ เพราะ ส.ส.ที่มาประชุมก็มาตลอด แต่คนที่มายังไงก็ไม่มา และบอกว่าจะเปิดเผยรายชื่อคนที่ไม่มาก็ยังไม่เห็นมีการเปิดเผย จึงขอเรียกร้องให้แฉไปให้ประชาชนได้เห็นว่า ส.ส.ที่รับปากกับประชาชนไม่มาประชุม ทำให้คนที่มาเสียเวลา ซึ่งบางพรรคก็หายไปทั้งพรรค ดังนั้นไม่ควรรอ เพราะ ส.ส.ที่อยู่จะได้ลงพื้นที่เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
ด้าน ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ทบทวนว่าตั้งแต่เป็น ส.ส.มา ไม่เคยมีบรรยากาศเช่นนี้ ซึ่งบรรยากาศที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีรัฐบาลชุ่ยๆ เพราะองค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไม่ใช่ฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านไม่ได้เล่นเกมโดยเฉพาะเรื่องประมงซึ่งเป็นเรื่องถัดไป เพราะเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องลงมาควบคุมเสียง ส่วนเหตุการณ์ผู้แทนย้ายพรรคและเกิดการลาออก ทศวรรษนี้ถือว่าเยอะที่สุด หนักกว่าตลาดวัวตลาดควายเสียอีก
ทำให้ ศุภชัย ขอให้ถอนคำพูดที่รุนแรงเกินไป เพราะ ส.ส. มีสิทธิที่จะลาออกจึงไม่ควรเปรียบเทียบ ทำให้ ครูมานิตย์ บอกว่า ยินดีถอนคำพูด แต่ย้ำว่าในอดีตไม่เคยเห็นบรรยากาศเหล่านี้ แต่วันนี้ไปกันเยอะทำให้องค์ประชุมน้อยลงตามลำดับ ถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดหากรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายบริหารไม่ได้ก็ควรยุบสภา ให้ชาวบ้านจัดสรรมาใหม่
จากนั้น ศุภชัย จึงกล่าวว่า ขอระบายบ้าง ตนมาเป็น ส.ส.ในรอบนี้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ในฐานะประธานในที่ประชุมก็ทำอย่างเต็มที่ ลงจากบัลลังก์ก็ทำหน้าที่ ส.ส. ยอมรับว่าเหนื่อยหน่ายเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเรียกร้องเหมือน ครูมานิตย์เช่นเดียวกัน
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาฯ เสีย เพราะ ส.ส.ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีก็ไม่ยอมมาตอบกระทู้ในสภาฯ แล้ว จะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์และอยากระบายบ้างเหมือนกัน” ศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.ส. ส่วนใหญ่ ที่ลุกขึ้นหารือกับประธานในที่ประชุมฯ เรียกร้องให้ ส.ส. มาร่วมกันเป็นองค์ประชุม เพื่อที่จะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมง ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในลำดับถัดไป หลังจากรอการพิจารณามาหลายสัปดาห์ ซึ่งชาวประมงกำลังจับตาอยู่
เมื่อถึงเวลาพอสมควรในการรอองค์ประชุมปรากฏว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 190 ไม่ครบกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมคือ 212 คน ประธานจึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 13.46 น. หลังจากเข้าสู้การพิจารณาไปแค่ 16 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งวัน ส.ส.มาประชุมค่อนข้างบางตา โดยช่วงปิดการประชุม มีเสียงของ ส.ส.ผ่านไมโครโฟนว่า “ท่านประธาน พรรคภูมิใจไทยท่านไม่มานี่ ใช่ไหม”