ไม่พบผลการค้นหา
สศก. พบเกษตรกรใช้สิทธิ 5,000 ซ้ำซ้อน 6 แสนราย เป็นข้าราชการ-ข้าราชการบำนาญกว่า 1.7 แสนราย กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเปิดอุทธรณ์-ศูนย์ร้องเรียนถึง 31 ส.ค.

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในขณะนี้ได้รวบรวมและจัดทำระบบคัดกรองทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชี จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านราย ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน และหลักเกณฑ์อื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้หารือกันกับกระทรวงการคลังแล้ว พบว่าทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งให้ดำเนินการตรวจความซ้ำซ้อนก่อนรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 8.33 ล้านราย ตรวจสอบพบว่ามีความซ้ำซ้อน และทำให้มีผู้ผ่านสิทธิได้รับเงินเยียวยา 6.77 ล้านราย ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ได้ ส่วนอีก 1.56 ล้านรายอยู่ระหว่างการตรวจสอบ    

อีกทั้งผลการตรวจสอบข้อมูลยังพบรายชื่อบุคคลที่ซ้ำซ้อน มีจำนวน 601,688 ราย แบ่งเป็น

  • ซ้ำซ้อนกับฐานข้อมูลประกันสังคม จำนวน 329,114 ราย
  • ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย
  • ซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย
  • ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการ 91,426 ราย

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้โอนเงินมาที่ สศค. และ สศก.ดำเนินการจ่ายเช็คให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 รอบแรก จำนวน 25,000 ล้านบาท และ รอบต่อไปในวันที่ 20 พ.ค.จำนวน 25,000 ล้านบาท หลังจากนั้นจะจ่ายให้กับ ธ.ก.ส. ทุกสัปดาห์ รวม 6 งวด เพื่อให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรต่อไป

โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง
  • กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ตั้งแต่ 1-15 พ.ค. คาดว่าไม่เกิน 1 ล้านราย
  • กลุ่มที่ 3 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ขอขยายระยะเวลาในการขึ้นทะเบียน เนื่องจากภัยแล้ง จึงยังไม่สามารถปลูกพืชได้ในช่วงนี้     

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกร รอบแรกในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จำนวน 1 ล้านราย เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท และดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรทุกวันๆ ละ 1 ล้านราย อย่างไรก็ตาม กรณีเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารอื่นๆ ได้ โดยเตรียมหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารอื่น และเข้าไปที่เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม 1-15 พ.ค. แต่ละหน่วยงานจะส่งข้อมูลให้ สศก. ภายในวันที่ 22 พ.ค. และ สศก.ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.ภายใน 27 พ.ค. เพื่อจ่ายเงินให้เกษตรกรต่อไป และในการอุทธรณ์ ให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เปิดช่องทางการอุทธรณ์ ทั้งที่ตั้งสำนักงาน โทรศัพท์ และอีเมล์ ภายใน 31 ส.ค.2563 หรือ 1 เดือนหลังจากจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนและเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำแอปพลิเคชัน และแบบฟอร์มในการร้องเรียนด้วย

สำหรับโครงการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ดำเนินตามมติ ครม.วันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยครม.อนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น 10 ล้านคน แบ่งเป็น

  • เกษตรกรปลูกพืชที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 6.19 ล้านคน
  • เกษตรกรที่มีทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ 1.6 ล้านคน
  • เกษตรกรที่มีทะเบียนกับกรมประมง 6.4 แสนคน

ส่วนอีก 1.57 ล้านคน เป็นเกษตรกรที่รอตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียน โดยในส่วนการจ่ายเยียวยาเกษตรกร จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลังวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และรัฐบาลจะโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :